Now Reading
ชวน Back to the Future กับ Content Creator มาก (อายุ) ประสบการณ์ ที่ไม่เชื่อว่า Content คือ คำตอบของทุกสิ่ง

ชวน Back to the Future กับ Content Creator มาก (อายุ) ประสบการณ์ ที่ไม่เชื่อว่า Content คือ คำตอบของทุกสิ่ง

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลยากที่จะตามทัน ผู้คนในหลากหลายอาชีพต่างถูกคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง (Disruption) ถาโถมเข้าใส่อย่างไม่หยุดยั้ง สายอาชีพด้านการสื่อสารโดยเฉพาะ “วิทยุและโทรทัศน์” ดูจะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส

แต่เพราะอะไร นิธิ วติวุฒิพงศ์ ผู้ทำงานเบื้องหลังรายการสารคดีชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในอดีตว่า เป็นหนึ่งในสารคดีที่ดีที่สุดแห่งยุค ’90 อาทิ สารคดี “โลกสลับสี” สารคดีชุด “ธรรมชาติ” เป็นต้น ซึ่งสร้างสรรค์โดย บริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด สู่งานหลากรูปแบบที่บริษัท พาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด หรือแม้กระทั่งสารคดีในวาระพิเศษต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทรบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงผลงานคุณภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงสามารถหยัดยืนอยู่บนสายอาชีพด้านการสื่อสารมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยก้าวจากงานโทรทัศน์สู่การเป็น Content Creator ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทที่ริเริ่มให้บริการด้าน Content เมื่อกว่า 12 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ พลีอาดีส บางกอก ซึ่งมาจากชื่อสากลของ กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) ซึ่งมีตำนานและเรื่องเล่าแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลก

 “… วลีที่ว่า Content is King ยังใช้ได้จริงในยุคสมัยนี้หรือไม่ ? ถ้าให้เราตอบในฐานะของคนทำ Content ก็คือ ไม่จริง ...”

เป็นคำตอบที่หลุดจากปากของนิธิตั้งแต่ช่วงต้นของการสนทนา เล่นเอาเราเหวอ ! พร้อมอุทานเสียงหลง จนนิธิหลุดขำกับท่าทางและอาการของเรา ใครจะคิดว่าคำตอบนี้จะออกมาจากปากของคนทำ Content มากประสบการณ์

“… คำพูดใด ๆ ก็แล้วแต่ มันไม่ได้เป็นจริงในทุกสถานการณ์ ทุกบริบท ทุกการอ้างอิง แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นคนพูด พูดในบริบทไหน เพื่อที่จะสื่อความหมายอะไร … ในความเป็นจริง ไม่มีการสื่อสารชนิดไหนที่ไม่มี Content การสื่อสารอาจจะไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ได้ อาจจะไม่มีสื่อที่สร้างสรรค์ก็ได้ แต่การสื่อสารไม่มี Content ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่า Content นั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่น ๆ ก็พูดไม่ได้หรอก เพราะในบางสถานการณ์ Content อย่างเดียวมันก็สื่อสารได้ไม่เพียงพอ มันต้องมีศิลปะเข้าไปร่วมด้วย ไม่อย่างนั้น Content มันจะไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ...”

คำตอบที่เราได้รับ ซึ่งดูเป็นการอธิบายถึงหัวใจของการสื่อสารได้อย่างชัดเจนนั้น คงจะกลั่นกรองมาจากประสบการณ์การทำงานหลายสิบปี ผสานเข้ากับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตที่หลอมรวมให้ชายวัยกลางคนตรงหน้าเรา กลายเป็นนักทำ Content และนักสื่อสาร ที่ผู้คนและองค์กรหลายแห่ง ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ให้ความเชื่อถือ แค่เริ่มต้นก็ชวนให้เราชักอยากรู้เรื่องราวชีวิต จุดยืน และมุมมองในอนาคตของชายคนนี้แล้ว

จากสืบ ถึง นิธิ

นิธิเริ่มก้าวเดินบนเส้นทางของนักสื่อสารตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ในคณะศึกษาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนวิชาสื่อสารมวลชน หรือได้รับวุฒิการศึกษาในสาขานิเทศศาสตรบัณฑิตโดยตรง แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ทำให้นิธิเชี่ยวชาญการใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางเทคนิคสำหรับใช้ในงานด้านสื่อสารมวลชน

Editor ประจำฝ่ายสารคดีของบริษัทแปซิฟิกฯ คือตำแหน่งงานแรกที่เด็กจบใหม่ไฟแรงอย่างนิธิได้รับ พร้อมกับความมั่นใจในตัวเองแบบเกินร้อย ที่ติดตัวมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยว่า “ตัวเองเก่งที่สุดในรุ่น” แต่แล้ว ‘จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ’ ก็เกิดขึ้นหลังจากที่นิธิทำงานมาได้แล้วสักพัก

(ห้องตัดต่อที่นิธิทำงานในสมัยก่อน)

วันที่ 1 กันยายน 2533

“… เรานั่งอยู่ตรงแผนกที่ทำงาน อยู่ ๆ ก็มีโทรศัพท์โอนสายเข้ามาที่ฝ่ายสารคดี พี่หัวหน้าทีมก็รับสาย เสียงเขาดูตกใจมาก วางสายเสร็จเขาก็หันมาบอกพี่อีกคนหนึ่งว่า “พี่สืบยิงตัวตาย” เราอยู่ตรงนั้นได้ยินทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้น เราก็ถามพี่อีกคนในทีม

พี่สืบคือใคร ?

พี่สืบเป็นหัวหน้าเขตห้วยขาแข้ง

อะไรคือเขตห้วยขาแข้ง ?

มันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

อะไรคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ? แล้วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมันอยู่ตรงไหน ?

เฮ้ย ! พี่สืบเขามีชื่อเสียงนะ เขาเป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน เขาเคยอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน

อะไรคือเขื่อนน้ำโจน อะไรคือเขื่อนเชี่ยวหลาน ?

ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เรามีความรู้สึกรุนแรงและกระทบใจมาก ๆ ว่า เฮ้ย ! เราหลงเข้าใจมาตลอดว่า เราเก่ง เรารู้อะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เราไม่รู้อะไรเลย ! แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ! เราจะปล่อยตัวเองให้นั่งตัดต่อรายการส่งช่องออกอากาศไปวัน ๆ เหรอ นั่นเป็นจังหวะแรกที่ทำให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเอง …”

ความรู้สึกของ new jobber คนหนึ่ง ในวันประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ทำให้นิธิเริ่มขวนขวายหาความรู้รอบตัวอีกมากมายและหลากหลายรูปแบบ เพื่อเติมเต็มความไม่รู้ พร้อม ๆ กับการซึมซับภาษาและลีลาการเล่าเรื่อง จากบทและภาพที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เรียบเรียงและสร้างสรรค์ กระทั่งก้าวออกจากห้องตัดต่อเพื่อไปเรียนรู้หลักการเล่าเรื่องภาคปฏิบัติด้วยตัวเอง

 “… เราได้ออกไปลองถ่ายทำเองจริง ๆ ได้ไปคุยกับแหล่งข้อมูล ไปซึมซับบรรยากาศ และกลับมาเขียนบท เราได้ฝึกเล่าเรื่องที่เป็นเรื่องเล่าของเรา ด้วยวิธีการในแบบฉบับของตัวเอง …”

Pleiades Bangkok การเรียนรู้ครั้งใหม่ของชีวิต

นิธิได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเล่าเรื่องหลากรูปแบบ ที่บริษัท พาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด ในช่วงต่อเนื่องยุค ’90 จนถึงหลังปี 2000 ด้วยประสบการณ์ท้าทายหลายครั้ง อาทิ การเป็นผู้กำกับสารคดีตัวแทนประเทศไทย ในซีรีส์ Japan from Asian’s Eyes ของสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น หรือเป็นผู้กำกับภาพในสารคดีชุด Faith in the Crowd ออกอากาศทาง Discovery Channel Asia รวมทั้ง In-flight Documentary หลายเรื่องสำหรับการบินไทย ควบคู่กับงานด้านบริหาร และการเขียนคอลัมน์เชิงท่องเที่ยวในนิตยสารหลายฉบับ กับหนังสือเล่มในบางโอกาสพิเศษ กระทั่งจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีในสายงานโทรทัศน์เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นชัดขึ้น

(ประสบการณ์การเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือหลากหลายรูปแบบ)

“… ตั้งแต่เราเรียนจบและทำงานมา วงการโทรทัศน์มันมีความพ่อมดหมอผีอยู่หน่อย ๆ นะ คือคนที่สามารถใช้กล้องถ่ายโทรทัศน์ได้ คุณต้องมีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางสูงมาก เพราะมันมีปุ่มอยู่ร่วมร้อย เครื่องตัดต่อก็เหมือนกัน มันทั้งใหญ่และหนัก คุณไม่มีทางเป็น Freelance มีเครื่องตัดต่อไปตั้งไว้ที่บ้านเองได้แน่ ๆ ในสมัยนั้น เพราะมันมีราคาสูงมาก และคุณต้องมีความรู้ทางเทคนิคมากมายมหาศาล แต่พอเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนไป ใคร ๆ ก็มีกล้องและเครื่องตัดต่อคุณภาพทัดเทียมมืออาชีพได้ ความเป็นพ่อมดหมอผีของพวกเราก็ค่อย ๆ หายไป ใคร ๆ ก็ทำวีดีโอสวย ๆ ได้เหมือนเรา เราก็เลยพยายามมองหาว่า อะไรคือสิ่งที่จะยังมีพรมแดนระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครเล่น เราพยายามมองหาที่ยืนให้กับตัวเองในฐานะมืออาชีพ เพราะเราทำงานด้านนี้เป็นอาชีพ ไม่ได้ทำสนุก ๆ ขำ ๆ แต่มันเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็กของเรา …”

จากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ผนวกกับอายุที่ล่วงเลยเข้าสู่เลขสี่ ทำให้นักเล่าเรื่องมากประสบการณ์ผู้นี้ ตัดสินใจนำหัวใจหลักของการสื่อสารที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมาเป็นจุดขาย โดยการก่อตั้ง “พลีอาดีส บางกอก” บริษัทที่ให้บริการงานด้าน Content อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่สื่อประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น

“… Content มันเป็นแกนกลางที่สุดของงานด้านการสื่อสารทั้งหมด ไม่ว่ารูปแบบเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ หรือว่าช่องทางการเผยแพร่จะเปลี่ยนไปอย่างไร …”

แต่การเริ่มต้นสิ่งใหม่ ในช่วงเวลาที่คำว่า Content ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลาย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“… เราเริ่มต้นบริษัทเล็ก ๆ โดยประกาศตัวเองว่า เราเป็นผู้ให้บริการด้าน Content มันก็อธิบายตัวเองได้ยากนะ เพราะว่ามันฟังดูเป็นนามธรรม คนนึกไม่ออกว่า ผลผลิตงาน Content มันคืออะไร มันไม่เหมือนอย่างที่เขาคุยกับบริษัทที่เป็น Video Production House ผลผลิตมันคือ Video คุยกับ Publishing House ผลผลิตก็คือหนังสือ ….”

ถึงแม้บริบทของสังคมในปัจจุบัน จะหันมาให้ความสำคัญกับ Content เป็นอย่างมาก แต่การอธิบายถึงสิ่งที่ “พลีอาดีส บางกอก” เป็นนั้น ก็ยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย ตามสิ่งที่หัวหน้าทีมดาวลูกไก่เมืองกรุงได้เล่าให้เราฟัง

“… ปัจจุบัน ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Content แต่คนส่วนใหญ่ก็จะพูดถึง Content เพื่อขายของ …”

Content เพื่อขายของ มันคือ Content ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าการขายของได้ จะอธิบายคำว่า Content ได้ทุกมิติ เพราะโลกยังมี Content อื่น ๆ ที่ไม่ได้มุ่งจะขายของ …”

“… เราก็เจอปัญหาใหม่ จะเรียกว่า ปัญหาก็คงไม่ใช่หรอก อาจจะเรียกได้ว่า challenge ใหม่ ๆ ที่เราจะต้องทำ ซึ่งคือเราก็ต้องมานั่งอธิบายว่า Content นั้นมีหลายลักษณะ และ Content แต่ละลักษณะต่างกันอย่างไร Content มันมีหลายเป้าหมาย หลายวัตถุประสงค์ …”

เมื่อ Content มีหลายรูปแบบ หลากวัตถุประสงค์ แล้ว Content ของ “พลีอาดีส บางกอก” เป็นแบบไหนกัน ?

“… ถ้าจะให้นิยามคำว่า Content ของเราเป็นแบบไหน ? เราก็อยากจะนิยามว่า เราทำ Premium Content ซึ่งอะไรที่เป็น Premium นั้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ตลาด Mass สักเท่าไรหรอก งานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาของพวกเราก็เป็นลักษณะนั้น เราไม่ได้ทำงานที่จะมุ่งอยู่ในกระแสความนิยมในวงกว้าง เรามุ่งทำ Content ให้มันมีคุณลักษณะแบบอื่นมากกว่า เช่น เป็น Content ที่เชื่อถือได้ เป็น Content ที่ใช้อ้างอิงได้ เป็น Content ที่หนักแน่น มีอายุยาวนาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องซีเรียส จริงจัง มีความเป็นวิชาการตลอดเวลาหรอกนะ …”


“… จริง ๆ แล้ว มุมหนึ่งในงานของพวกเราก็คือ การสลายความเป็นวิชาการ เอาสิ่งที่เข้าใจยาก มาแปลงให้เข้าใจง่าย น่าสนุก และน่าติดตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นงานที่ทำเพื่อมุ่งความ Pop …”

(ผลงานส่วนหนึ่งของชาวพลีอาดีส บางกอก)

ถ้าจะเปรียบเทียบการทำงานของชาวดาวลูกไก่ว่า เป็นเหมือน ‘ช่างตัดสูท’ ที่ตัดชุดแบบพอดีตัว มีรูปแบบที่เหมาะสม และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ไหม ? เป็นคำถามต่อไปที่เราถามนิธิ

“… หากจะเปรียบเทียบว่าเราเป็นช่างตัดสูท เราไม่ได้มองว่า สูทที่เราตัดจะเป็นสูทที่ใส่แล้วโก้ สวย หรือโฉบเฉี่ยวดูดีแค่อย่างเดียว แต่สูทของเรา ใส่แล้วมี Functional Benefit บางอย่าง เช่น ใส่สูทตัวนี้แล้วดูน่าเชื่อถือ ใส่สูทตัวนี้แล้วดูมีระดับ หรือสะท้อนความเป็นมืออาชีพ …”

ถึงเวลาที่ต้องถอย และรุกหน้าไปพร้อม ๆ กัน

            ในช่วงเวลากว่าครึ่งชีวิต นิธิได้พาตัวเองไปสะสมประสบการณ์ที่น้อยครั้งจะหาได้ มากมายนับไม่ถ้วน เป็นสีสันของการทำงานและความสุขในชีวิต แม้ปัจจุบัน นิธิได้ตัดสินใจถอยตัวเองออกมาก้าวหนึ่งจากสิ่งที่ตนเองเองฟูมฟักมาเป็นเวลากว่า 12 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงเวลาของ New Cycle is Now ที่จะให้เพื่อนร่วมงานต่าง Generation คือ ปฐมาภรณ์ วิโรจน์พันธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ต้น ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจักรวาลดาวลูกไก่มากขึ้น


“… ตอนนี้ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ทำให้เราเห็นว่ามุมมอง ความคิด วิธีการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ของคน Generation เดิม มันไม่น่าจะตอบโจทย์ยุคสมัยหรือความเป็นไปในปัจจุบันได้ครบถ้วนทุกมิติ เราซึ่งเป็น Generation สูงวัยที่สุด ก็จะมีบทบาทในการบริหารน้อยลงกว่าเดิม หันไปมีบทบาทที่ต้องมองไปไกล ๆ มากขึ้น คือใช้ประสบการณ์ของงาน Content มาสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยให้คนที่เป็น Generation ถัดมา เข้ามีบทบาทแทนในการบริหาร ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน โดยเป้าหมายคือให้บริษัทที่มีอายุมากว่า 12 ปี ยังมีความสด ใหม่ และมีความสมดุลระหว่าง Generation ที่เก่าและใหม่มากยิ่งขึ้น เป็นบริษัทที่มีวุฒิภาวะ โดยไม่แก่ชราคร่ำครึ หรือเต็มไปด้วยจิ๊กโก๋เลือดเดือด (หัวเราะ) …”

ในอีกด้าน ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 12 ปีของทีม พลีอาดีส บางกอก ทำให้คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะก้าวรุกไปข้างหน้า ขยายขอบเขตและสไตล์การทำ Content ของชาวดาวลูกไก่ จาก Premium สู่ความเป็น Mass Premium เพื่อนำเสนอตัวตนและผลงานสู่โลกที่กว้างขึ้น กับสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะไปพร้อม ๆ กัน

“… บริษัทดำเนินงานมา 12 ปี สามารถจะสร้างผลงาน ความน่าเชื่อถือมาได้นานขนาดนี้ สิ่งที่เป็นความรู้ ความชำนาญ หลักคิด วิธีการ ได้ผ่านการพิสูจน์มาพอสมควรแล้วว่า มันใช้การได้ มันมีตัวอย่างความสำเร็จหนักแน่นเพียงพอ …”

นอกเหนือจากงานสร้างสรรค์แบบ Tailor-made แล้ว นิธิและชาวดาวลูกไก่ยังได้สร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ทำงาน รวมถึงข้อมูลข่าวสารความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกที่น่าสนใจและเชื่อถือได้ ในรูปแบบของ Facebook Page ใช้ชื่อว่า PERCEPTiA ที่มีเป้าหมายให้ผู้ติดตามได้รอบรู้และดูดี เพียงแค่กด Follow และ See First ไว้ ก็จะทำให้ทราบข้อมูลข่าวสารดี ๆ และอ่านกันได้ฟรีในทุกวัน รวมทั้งกำลังมีแผนในการเผยแพร่ทักษะความรู้ด้านการผลิต Content

“… เราอยากเริ่มบทบาทในการเผยแพร่ประสบการณ์ เทคนิค และวิธีการในการทำงานของเราที่เรียกว่า Content ที่เชื่อถือได้ หรือ Credible Content ออกไป เราเชื่อว่ามันจะส่งผลให้มีคนที่สนใจ หรือมีขีดความสามารถในการที่จะผลิต Content แบบนี้ เพิ่มมากขึ้น เราอาจจะได้พบเพื่อนร่วมแนวคิดคนใหม่ ๆ ที่อยากจะร่วมงานกัน หรืออาจจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมวงกว้างมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของ Credible Content ทำให้เกิดตลาดรองรับผู้คนที่สนใจอยากจะทำงานแบบนี้มากขึ้น …”

นอกจากเหนือจากความคิด สิ่งที่สำคัญทัดเทียมกันก็คือ ‘การลงมือ’

“… ความคิดแรกเริ่มเลยก็คือ บริษัทครบรอบ 12 ปีทั้งที เราก็จะรับบรรยายฟรี 12 ครั้ง ให้กับองค์กร สถาบัน หรือที่ไหนก็ตาม ที่อยากให้เราไปถ่ายทอดความรู้เรื่อง Credible Content Creation : ทำ Content อย่างไรให้เชื่อถือได้” เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยเติมสมดุลให้กับยุคที่ Fake News หรือข่าวมั่วข่าวเมคถูกเผยแพร่เต็มไปหมด แต่ยังไม่ทันจะเริ่ม โรคระบาดก็มาเสียก่อน แต่ไม่เป็นไร เราก็ยังคงจะทำในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ แค่เปลี่ยนวิธีการและช่องทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ …”

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการบรรยายฟรี 12 ครั้ง สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page: PERCEPTiA ซึ่งอีกไม่นานเกินรอ ก็จะมีรายละเอียดแจ้งให้แฟน ๆ และผู้ที่สนใจได้ทราบกันอย่างทั่วถึง

https://www.facebook.com/page.perceptia/

บทส่งท้าย

คำถามสุดท้ายของบทสนทนาที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ในครั้งนี้ มาพร้อมกับแสงตะวันที่ใกล้จะหมดลง

เราอยากฟังความเห็นของนิธิว่า ประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 30 ปีนั้น ยังสามารถใช้ได้จริงอยู่ไหม ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เอื้อให้ผู้ชม เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้รับสาร” เป็น “ผู้สร้างสรรค์ Content ด้วยตัวเอง” ?

นิธิยังคงยิ้มให้เราเหมือนกับตอนเริ่มต้นบทสนทนา แล้วตอบคำถามของเราในมุมมองจากประสบการณ์และความเชื่อของตัวเขา

 “… ประสบการณ์ในงานไหน ๆ อาชีพใด ๆ ก็แล้วแต่ มันใช้ได้ทั้งหมด ถ้ามันถูกใช้โดยคนที่ติดตาม ทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หรือความเปลี่ยนแปลงของบริบทการสื่อสาร ประสบการณ์ที่ถูกรองรับด้วยการอัพเดทตัวเอง อัพเดทความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัว เรามองว่า ประสบการณ์เป็นต้นทุนสำคัญ สำหรับการเลือกหยิบเอามาใช้ในการรับมือกับยุคสมัย และความต้องการที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลาได้ไม่รู้จบ …”

ทัศนะต่อชีวิตซึ่งเราได้ฟังจากชายวัยกลางคนที่ชื่อว่า นิธิ วติวุฒิพงศ์น่าจะเป็นอีกหนึ่งมุมคิดที่สะท้อนว่าตัวเลขอายุที่เพิ่มพูนขึ้นนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างในการที่จะหยุดพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อรอวันให้คน Generation ถัดไปเชิญขึ้นไปสถิตอยู่บนหิ้งนิ่ง ๆ เท่านั้น แต่การเรียนรู้และเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเลือกได้ว่าจะขออยู่ตรงจุดไหน ในกระแสแห่งความผันแปรของโลก

อาจเลือกที่จะไหลไปตามกระแสสู่จุดหมายซึ่งยังมองไม่เห็น หรือเลือกจะนั่งอยู่บนโขดหิน จับจ้องมองสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวไปในกระแส เพื่อรอคอยหรือกระโจนใส่บางสิ่งเมื่อโอกาสเหมาะ ๆ มาถึง

[สัมภาษณ์ เรียบเรียง และถ่ายภาพโดย ฑิตยา ชีชนะ – มนุษย์คอนเทนต์เจ็นวาย ผู้มากประสบการณ์งานยากเกินวัย เชื่อในความรู้สึก และศักยภาพของการลงมือทำ ตามหลักเหตุและผล