นิทรรศการ ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี 2560
นับแต่นั้นสำนักหอสมุดแห่งชาติจึงได้มีแผนที่จะเปิดคลังภาพถ่ายฟิล์มกระจกเป็นประจำทุกปีตามลำดับเวลาของภาพ โดยคัดสรรภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน 1,000 ภาพ เพื่อให้ภัณฑารักษ์จัดเป็นนิทรรศการแสดงแก่ สาธารณะต่อไป
นิทรรศการนี้เน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อสยามค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการ การประสมประสาน ทางวัฒนธรรม “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” อันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อนำผู้คนในปัจจุบันเดินทางย้อนเวลาไปในอดีต เป็นการเดินทางที่นำไปสัมผัสกับเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 7
ในการชมนิทรรศการครั้งนี้ ผู้ชมจะเสมือนหนึ่งได้ร่วมเดินทางไปในการเสด็จประพาสหัวเมืองของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสงบ ผ่อนคลายและเป็นส่วนพระองค์ แม้ในท้ายที่สุดการเสด็จประพาสต่าง ๆ จะจบลงด้วยเหตุการณ์ชวนสลด อันเป็นสัญญาณสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสยามในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดหรือว่าคาดไม่ถึง เพราะผู้ชมจะค่อย ๆ รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ฉายอยู่ในภาพถ่ายอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก สงบเรียบง่ายของชีวิตประจำวัน ความรู้สึกฉงนสงสัยและความสนุกสนานเมื่อได้เห็นวัฒนธรรมและเรื่องราว จากมุมมองต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ในสถานที่ที่ไม่คาดคิด รวมทั้งความรู้สึกตื่นเต้นที่มาพร้อมกับการเดินทางและ ความเปลี่ยนแปลง ในท้ายที่สุด เราจะได้ร่วมเดินทางไปกับบ้านเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งได้เคลื่อนผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา วิถีชีวิตของชาวสยามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสามัญชน หากรวมถึงพระมหากษัตริย์และบรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ด้วย ความสนใจที่มีต่อ วัฒนธรรมตะวันตก รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ทำให้แนวคิดและวิถีแห่งกษัตริย์มีความ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เป็นสมมติเทพอันสูงส่ง พระราชานุกิจต่าง ๆ เป็นไปตามแบบแผนโบราณ ราชประเพณี อย่างเคร่งครัด ก็มีความผ่อนคลายลง มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงถึงพระคุณสมบัติและบุคลิกภาพเฉพาะพระองค์ ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เริ่มเสด็จประพาสและแปรพระราชฐานไป ตามที่ต่างๆ เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ มีการสร้างพระตำหนักหลายแห่งนอกพระนครเพื่อเป็นที่ประทับ เช่น พระนครคีรี หรือเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยพระองค์ได้เสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ พร้อมเหล่าเจ้านายพระราชวงศ์ บ่อยครั้งเป็นการ “เสด็จประพาสต้น” คือเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยมิให้ใครรู้จัก เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของชาวบ้าน เป็นการเสด็จประพาสที่ทรงสนุกสนานสำราญพระราชหฤทัย ราษฎรมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าเหนือหัวที่ตนเคารพเทิดทูนอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองอย่างที่สุด
เรากำลังร่วมเดินทางไปในการเสด็จประพาสในครั้งกระนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่เกาะสีชัง ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และบรรดาเจ้านายผู้โดยเสด็จ ประทับทรงพระเกษมสำราญท่ามกลางแสงแดดและอายทะเล หรือที่เมือง กำแพงเพชร ซึ่งได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง รวมทั้งโปรดให้จัดการแสดงละคร โดยให้เจ้านายรับบทบาทต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่เสด็จประพาสต้นทั้งสองครั้ง (พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2449) และเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) อันเป็นช่วงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงประสบกับความ โทมนัสแสนสาหัส ด้วยทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2447) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คู่พระทัย และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2452) พระราชโอรสผู้ทรงสนิทเสน่หาและใกล้ชิดประดุจ “ธารพระกร” ทรงพระวิปโยคอาดูรถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “… จะทนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหวด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปอยู่เพชร สบายจึงจะกลับ…” ความพลัดพรากอันไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ ราวกับเป็นสัญญาณ แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
เราจะรู้สึกถึงบรรยากาศแห่งความสุขสงบเรียบง่ายเมื่อได้เห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินไปตาม ครรลองอย่างเนิบช้า ภาพของเด็ก ๆ ที่เล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพของพระภิกษุในวัดวาอารามซึ่งสร้างขึ้น ในปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันของผู้คนที่ตั้งบ้านเรือน อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยา วิถีชีวิตอันแสนธรรมดาสามัญเหล่านี้เปรียบเสมือนช่วงพักครึ่งเวลาระหว่างการแสดง ช่วงเวลา ที่สงบนิ่งดังผิวน้ำเรียบยามไร้ลมพัด รอเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงในจะเยื้องกรายเข้ามาแสดงบทบาท ในสยามประเทศ
แม้ชาวตะวันตกจะเข้ามาในสยามตั้งแต่ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะเป็น มิชชันนารีผู้เผยแผ่ศาสนา หรือครูฝรั่งที่สอนหนังสือแก่เด็ก หากแต่ในรัชสมัยนี้เองที่เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวตะวันตกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามมากขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคน เช่น สถาปนิกและศิลปินชาวอิตาเลียน ได้ทำงานร่วมกับช่างฝีมือ ชาวสยาม ลักษณาการแห่ง “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” นี้ได้ดำเนินเรื่อยมาและพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดในรัชสมัย ของพระองค์เอง และพระราชโอรสทั้งสอง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความตื่นเต้นดูราวจะอบอวลในอากาศเมื่อสยามก้าวเร่งรุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หัวรถจักรไอน้ำพาเรา เดินทางจากบางกอกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ตามทางรถไฟที่เริ่มแผ่ขยายออกไปจากพระนคร กิจการรถไฟแรกมี ในสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์โดยเชื่อมโยงระบบ และเส้นทางทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน
การสร้างทางรถไฟนี้สะท้อนอิทธิพลของตะวันตกทั้งในเชิงกายภาพและแนวคิดอุดมคติ เห็นได้ชัดเจนจากการ นำเข้าวัสดุและวิทยาการจากตะวันตกเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ อย่างไรก็ดี อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและลึกซึ้ง กว่านั้นคือ การสร้างทางรถไฟเป็นประจักษ์พยานของสำนึกเรื่อง “รัฐชาติ” อันเป็นแนวคิดจากตะวันตกซึ่งมี อิทธิพลต่อชนชั้นปกครองของเอเชียในสมัยนั้น ในอันที่จะเชื่อมหัวเมืองใหญ่น้อยเข้ากับเมืองหลวงอันเป็น ศูนย์กลาง เพื่อเสริมสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและการบริหารบ้านเมือง สยามประเทศ จึงเริ่มกลายเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการ พัฒนาขนาดใหญ่ที่ขยายออกจากพระนคร
ท่ามกลางสารพันความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวล ชาวสยามก็ยังคงดำเนินชีวิตประจำวัน ต่อไป คร่ำเคร่งกับเอกสารต่าง ๆ ในที่ทำงาน แล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจด้วยการชมภาพยนตร์ฝรั่งที่หลั่งไหล เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
จัดแสดง 10 กรกฎาคม ถึง 20 กันยายน 2563
สถานที่ ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โทร 02-2811599
Email: contact@nat.go.th Website: www.nat.go.th
Facebook: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
จัดโดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ
ขอขอบคุณภาพจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com โทรศัพท์ 096 449 9516
- POPIA, a group exhibition with Pokchat Worasub, Hadrien Gerenton and COFIThe show includes photography, painting, installation, drawing and sculpture. - December 8, 2023
- ร่วมดื่มด่ำและตื่นตาตื่นใจกับ เทศกาลไฟและศิลปะดิจิทัล Awakening Bangkok ประจำปี 2023 - November 29, 2023
- ตามรอยยิ้ม - November 27, 2023