ชมมาสเตอร์พีซเรเนซองส์ ที่ชองติญี
ชมมาสเตอร์พีซเรเนซองส์ ที่ชองติญี
จะไปชมศิลปะที่ปารีส หรืออยากเห็นงานดีๆที่เป็นออริจินัลในยุคเรเนซองส์ อาจไม่ต้องไปเบียดเสียดกันที่ลูฟวร์ กลางเมืองเสมอไปแค่ขับรถออกไปนอกเมืองสัก 40 กิโลเมตร ก็จะได้สูดอากาศ บรรยากาศชาโตว์ ของ ชาโตว์ เดอ ชองติญี Chateau de Chantilly ที่เห็นตัวปราสาทสะท้อนเงาคูน้ำตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาและข้างใน มีแกลเลอรีภาพเขียนจากฝีมือศิลปินระดับมาสเตอร์ของยุคเรเนซองส์ กว่า 85 ชิ้น ซึ่งถือเป็นคอลเลคชันใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เป็นรองเพียงแกลเลอรีในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เท่านั้นชมสาวงาม ที่ว่ากันว่าเป็นนางแบบแห่งยุคเรเนซองส์ เธอคือต้นแบบเทพีวีนัสในภาพวาดชิ้นเอกของ Botticelli และอีกหลายชิ้นงานสะสมของเจ้าชายฝรั่งเศส ผู้หลงใหลงานศิลปะ
ชาโตว์มรดกเจ้าชาย
ชาโตว์ เดอ ชองติญี Chateau de Chantilly เป็นคฤหาสถ์พักตากอากาศชานเมืองในฤดูล่าสัตว์ ตามประเพณีปฏิบัติของชนชั้นสูงสมัยก่อน ชื่อตั้งตามทำเลที่ตั้งของตำบล ชองติญี ห่างจากปารีสแค่ 40 กม.
เจ้าของสถานที่คนสุดท้าย คือ ดยุคออฟโอมาล (Duke of Aumale)หรือ เจ้าชายโอมาล (มีชีวิตอยู่ในปี 1822-1897) เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 ของ พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ (King Louis-Philippe) และพระราชินีมารีย์-อเมลี (Queen Marie-Amélie ) แห่งราชวงศ์บูร์บง
เจ้าชายโอมาลได้รับมรดกชาโตว์ ตั้งแต่ปี 1830 ตอนอายุแค่ 8 ขวบ ต่อจาก หลุยส์-อองรี-โจเซฟ เดอ บูร์บอง ( Louis-Henri-Joseph de Bourbon) หรือเจ้าชายกองเด (Prine of Conde) ซึ่งมีสถานะเป็นพ่อทูนหัวของเจ้าชาย ต่อมาเจ้าชายโอมาลตั้งชื่อ พิพิธภัณฑ์กองเด เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อทูนหัวคนนี้นั่นเอง
เจ้าชายโอมาล ครอบครองชาโตว์ชองติญีระหว่างปี 1875-1885 ก่อนจะลี้ภัยการเมืองไปนอกฝรั่งเศส
ปี 1886 ชาโตว์ชองติญี ก็ตกอยู่ในความดูแลของของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่ดูแลด้านมรดกทางศิลปะวัฒนธรรมของชาติที่ชื่อ the Institut de France สถาบันที่เจ้าชายโอมาลเคยเป็นกรรมการด้วย
เจ้าชายโอมาล ทรงพำนักอยู่ที่เมืองซุคโค เกาะซิชิลี ประเทศอิตาลี จนถึงวันสิ้นพระชนม์เดือนพฤษภาคมปี 1897เนื่องจากเจ้าชายโอมาลไม่มีทายาท พร้อมทั้งระบุไว้ในพินัยกรรมแน่ชัดว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ขอให้เปิดชาโตว์เดอชองติญีให้สาธารณชนเข้าชมและชาโตว์ชองตีญีก็เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1899 มาจนถึงปัจจุบัน
Part 1
ไฮไลต์ใน Grand Chateaux
อาคารหลักที่เป็นแกรนด์ชาโตว์ ตั้งตระหง่านเหนือบึงน้ำที่เป็นคูน้ำล้อมรอบ เห็นภาพเงาสะท้อนน้ำ ให้แชะภาพเซลฟียอดฮิตกันไปในวันแดดใส ก่อนจะเข้าไปในอาคาร ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์กองเด ถูกจัดแบ่งห้องต่างๆเพื่อจัดแสดงงานภาพวาดพันชิ้น ภาพเขียนลายเส้น 2,500 ภาพและงานสลักบนวัสดุต่างๆอีก 2,500 ชิ้น กระจายในห้องต่างๆ
ไฮไลต์ในพิพิธภัณฑ์ฯคือ ห้องแสดงภาพ แกลลอรีหลัก ที่เรียกว่า The Gallery of Painting เป็นห้องโถงใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมต่อกับห้องทรงกลมหรือเดอะ โรทันดา ( The Rotunda)
เหตุที่เรียกว่าห้องนี้เป็นไฮไลต์ เพราะมีการจัดแสดงภาพวาด 85 ชิ้นของจิตรกรเอก ตั้งแต่ยุคเรเนอซองส์ถึงก่อนศตวรรษที่ 20 เป็นคอลเลคชันภาพเขียนแอนติคที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในฝรั่งเศส รองจากแกลเลอรีที่ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
จุดเด่นของห้อง แกลลอรีหลัก รูปแบบของการจัดแสดงภาพ ( museography) ที่เป็นแบบแผนของยุคศตวรรษที่ 19 จริงๆ
โดยการแขวนภาพเขียนไว้เต็มผนัง วางตามรูปแบบของกรอบภาพ เรียงรายซ้อนไว้หลายแถวสลับแนว ไม่ให้เป็นแนวเส้นตรง แต่ไม่ต้องเรียงตามลำดับเวลาของอายุภาพวาด
ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการจัดวางแบบเดิมตั้งแต่สมัย เจ้าชายโอมาลยังอยู่ และได้ระบุในพินัยกรรมว่า ทุกอย่าง ไม่ว่าแผนผัง การจัดวาง และสมบัติทุกชิ้นที่เจ้าชายโอมาลสะสม ต้องยังคงลักษณะเดิม ห้ามการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจัดวางและห้ามนำภาพหรือสมบัติใดๆออกไปแสดงนอกพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
Part 2
ภาพใหญ่ในแกลเลอรีหลัก
ก้าวแรกที่เข้าไปในห้องแกลเลอรีหลัก จุดดึงดูดอยู่ที่ภาพประธานบนผนังฝั่งซ้าย คือ ภาพเขียนชื่อ The Massacre of the Innocents ผลงานของ นิโกลาส์ ปูซัง(Nicolas Poussin มีชีวิตอยู่ช่วงปี 1594-1665) ซึ่งเป็นจิตรกรเอกของฝรั่งเศสช่วงปลายศตวรรษที่ 16-17
ประวัติของภาพวาดนี้ จิตรกรได้ถ่ายทอดเรื่องราวจาก พระคัมภีร์ Gospel เล่าโดยนักบุญแมทธิว เมื่อคิงแฮรอดสั่งการให้สังหารทารกอายุ 0-2 ขวบทุกคนที่เกิดในเบธเลเฮม หลังจากโหรในราชสำนักทำนายทายทักว่า พระราชาของชาวยิว(หมายถึงพระเยซูคริสต์) ได้มาจุติบนโลกนี้แล้ว
สำหรับผลงานของ นิโกลาส์ ปูซัง ที่จัดแสดงถาวรในชาโตว์ชองติญี มีทั้งหมด 5 ชิ้น แต่งานเด่นที่มี จุดเด่นทางศิลปะ คือ
- ภาพ The Massacre of the Innocents ซึ่งมีเทคนิคของการใช้แม่สีหลักเพียง 3 สี
- ภาพสะเทือนขวัญ จากการวาดทารกที่ถูกทารุณกรรมเพียงคนเดียว แต่สื่อถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ได้อย่างน่าทึ่ง
- ภาพสะเทือนอารมณ์ จากภาพใบหน้าของหญิงผู้เป็นแม่ ที่กำลังกรีดร้อง เป็นเพียงจุดเล็กในกลางภาพ แต่เป็นเหมือนจุดที่ดูดให้ผู้ชม (ซูมเข้าไป) จนรู้สึกว่าภาพสองมิติเคลื่อนไหวได้และไกด์นำเที่ยว แนะนำให้ลองตั้งสมาธิ ชม คุณอาจจะได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้หญิงคนนั้น ชวนให้สั่นสะเทือนอารมณ์ไปอีก
Part 3
ต้นแบบสาวงามยุคเรอเนซองส์
แต่ไฮไลต์จริงๆของแกลลอรีที่ชองติญี เห็นจะเป็นภาพวาดสาวงามที่ว่ากันว่า เป็นภาพของต้นแบบความงามในยุคเรเนซองส์ ช่วงศตวรรษที่ 15-16
ถ้าลูฟวร์มีนางเอก คือภาพโมนาลิซา ( Mona Lisa) สาวงามของศิลปินเอก Da Vinci ที่กองเด มิวเซียมในชาโตว์ชองติญี ก็มีนางเอกชื่อ Simonetta (ซีโมเนตตา) ที่ว่ากันว่าเป็นนางแบบความงามแห่งยุคนั้น
เพราะนอกจากจะมีภาพวาดภาพเหมือนตัวเธอแล้ว ยังมีคำเล่าลือว่า ใบหน้าอวบอิ่ม ดวงตาเม็ดอัลมอนด์และรูปทรงสมมาตรของหน้าผากและคาง ของซีโมเนตตา นี่แหละคือ ต้นแบบใบหน้าของเทพีวีนัส?
ในภาพเขียนชื่อ Simonetta Vespucci หรือ the portrait of Simonetta Vespucci by Piero di Cosimo โดยศิลปินอิตาลีชื่อ ปิเอโร ดิ คอซิโม จัดแสดงใต้โดมห้องทรงกลมที่เชื่อมต่อกับห้องใหญ่
ภาพ Simonetta เป็นภาพเหมือนหรือพอร์ตเทรต วาดด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบจากนางแบบชื่อ ซิโมเนตตา เวซปุชชี่ ที่มีเรื่องราวเล่าขานกันว่าเธอคือหนึ่งในสาวงามแห่งยุคเรเนอซองส์ที่อิตาลี
และมีคำเล่าลือว่า ซิโมเนตตา คนนี้แหละ คือต้นแบบรูปทรงใบหน้าของ เทพีวีนัส ในภาพเขียนเล่าตำนานกำเนิดเทพวีนัสจากเปลือกหอยมุกชื่อภาพ The Birth of Venus (ภาพแสดงอยู่ที่แกลลอรีในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี) งานมาสเตอร์พีซ บอตติเชลลี (Botticelli) ศิลปินเอกอีกคนในยุคนั้น
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าซิโมเนตตาเป็นนางแบบให้ Botticelli แต่ภาพเขียนหญิงสาวอีกหลายงานของ Botticelli ที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกับซีโมเนตตา
สำหรับภาพเหมือน (Portrait) ของ Simonetta วาดโดย di Cosimo (ดิ คอซิโม) ที่อยู่ในชาโตว์ชองติญี ภาพนี้วาดขึ้นราวปี ค.ศ. 1480 เมื่อ จูเลียโน ดิ ปิเอโร เดอ เมดิชี (Giuliano di Piero de Medici) ผู้อุปถัมภ์งานศิลปะตัวยงแห่งตระกูลสุดมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของอิตาลียุคนั้น ได้มอบหมายให้ di Cosimo วาดภาพ Simonetta Vespucci สาวงามไว้เป็นอนุสรณ์หลังจากที่เธอป่วยและเสียชีวิตด้วยอายุเพียง 22 ปี เพราะเดอ เมดิชี แอบหลงรักซีโมเนตตา แม้เธอจะแต่งงานกับเศรษฐีตระกูลเวซปุชชี (Vespucci )แห่งเมืองฟลอเรนซ์ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม
Part 4
ศิลปะเรเนอซองส์ในห้องอื่นๆที่ชองติญี
แม้ว่าภาพ The Birth of Venus ของจริงจะอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี แต่ ที่ชองติญีแห่งนี้ ก็มีภาพวาดใบหน้าพิมพ์ความงามที่ว่ากันว่า ใช้ต้นแบบจากนางแบบชื่อSimonetta นั้น อีกถึง 2 ภาพ ซึ่งจัดแสดง ในห้องแกลเลอรีเล็ก ชื่อ ห้องตริบูเน (Tribune) ซึ่งอยู่อีกปีกหนึ่งของอาคารพิพิธภัณฑ์กองเด ในชาโตว์ชองติญี
ภาพ 2 ภาพที่ว่านั้น คือ
ภาพเขียนชื่อ Autumn, or Allegory Against Drunkenness งานวาดยุคต้นเรเนอซองส์ของ Botticelli
และภาพเขียนชื่อ Venus Anadyomene ของ แองเกรส์ ( Ingres) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาพเทพีวีนัสที่ผุดร่างขึ้นมาจากทะเล ข้อมูลบอกว่า Ingres วาดภาพนี้ขึ้นหลังจาก ได้ไปชมผลงาน กำเนิดเทพีวีนัสจากเปลือกหอยมุก The Birth of Venus ของ Botticelli ที่แกลลอรีในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี แม้ใบหน้าของวีนัสของ Ingres จะแตกต่างจากวีนัส ของ Botticelli แต่ศิลปินฝรั่งเศสวาดท่ายืนและการเอื้อมมือเสยผมยาวสลวยจากใบหน้านั้นเป็นท่าเดียวกันกับงานมาสเตอร์พีซที่ฟลอเรนซ์
ความหลงใหลในศิลปะยุคเรเนอซองส์ ที่เจ้าชายโอมาลสะสมไว้ในชาโตว์ชองติญี ยังรวมถึง การจัดห้องแสดงภาพเล็ก ชื่อห้อง Tribune (ตริบูเน) ทั้งชื่อและสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงห้องนี้ถอดแบบมาจากห้อง ตริบูนา (Tribuna) ใน แกลอรี อุฟฟิซิ (Uffizi Gallery)ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี
ซึ่งในห้องนี้นอกจากภาพสาวงามแรงบันดาลใจจากวีนัสแล้วของ Botticelli และ Ingres แล้ว ยังมีผลงานที่ได้ไล่เรียงถึงประวัติศาสตร์ศิลปะต่อยอดจากยุคเรอเนซองส์ช่วงศตวรรษที่ 15-17 ของจิตรกรเอกอย่าง Fra Angelico และ Titian จนถึงศิลปะแนวโรแมนติกของ Delacroix และนีโอคลาสสิกของ Ingres ที่เฟื่องฟูในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 และภาพเขียนของ ศิลปินชาวดัตช์ Van Dyck และ Watteau ในยุคศตวรรษที่ 17-18
Part 5
หญิงสาวของ ราฟาเอล (Raphael)
ภาพศิลปะที่โดดเด่นอีกชุดที่ซองติญี คือ ภาพที่จัดแสดงในแกลเลอรี เล็ก ชื่อห้องเดอะ ซานตูอาริโอ (The Santuario) เป็นผลงานภาพวาดของราฟาเอล Raphael จิตรกรเอกยุคเรอเนซองส์ มีให้ชมของจริง 2 ภาพ
ภาพแรก ชื่อภาพ The Three Graces เป็นภาพสาวงามสามคนยืนเปลือยร่างถือผลแอปเปิลกันคนละลูกความพิเศษของภาพเขียน The Three Graces อันดับแรกคือ เป็นภาพเขียนที่มีขนาดเล็กที่สุดที่จัดแสดงในชาโตว์ชองติญีแห่งนี้ แต่ถือเป็นงานเลอค่าที่สุด
ความเลอค่ามาจากการเป็นมาสเตอร์พีซของ Raphael ซึ่งวาดภาพสามสาวถือแอปเปิ้ลนี้ จากแรงบันดาลใจจากรูปปั้นหินอ่อนสมัยกรีก อิงตำนานกรีกเรื่องราวของ เฮสเพอริเดีย (Hesperidia) ผู้มอบผลแอปเปิลให้มนุษย์มีชีวิตเป็นอมตะนั้น
แถมประวัติการได้มาของภาพ ยังดราม่ากันเล็กๆ ตามที่ไกด์เล่าว่า ภาพนี้เจ้าชายโอมาลซื้อมา โดยคิดว่ามันเป็นแค่ภาพเลียนแบบ และความจริงเพิ่งปรากฏหลังจากทางพิพิธภัณฑ์ฯได้ใช้เทค ได้มีเทคโนโลยีเอกซเรย์ยุคใหม่ ตรวจสอบรายละเอียดของภาพเขียน The Three Graces จึงพบว่า เป็นงานภาพต้นฉบับของ Raphael จริง เพียงแต่เป็นการวาดภาพซ้อนทับสองชั้น จากชั้นเดิมวาดภาพเทพีกรีกสามองค์ เฮรา อธีนา และอโพรดิเต ถือลูกบอลทองคำ ตามเรื่องราววันพิพากษาของปารีส (ในตำนานเทพกรีก) แต่Raphael เปลี่ยนเรื่องเป็นผลแอปเปิลภายหลัง
ภาพที่สอง The Madonna of the House of Orléans
ภาพนี้ Raphael วาดขึ้นราวปี 1506-1507 เป็นภาพวาดพระแม่มารีที่เป็นสมบัติของตระกูล ออรีอองส์ (Orléans ) ซึ่งภาพนี้เคยถูกขายให้นักสะสมในอังกฤษเมื่อปี 1791 ในยุคที่อำนาจราชวงศ์สั่ฝรั่งเศสสั่นคลอน ก่อนที่เจ้าชายโอมาลจะซื้อกลับมาเมื่อปี 1869 เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจกอบกู้สมบัติวงศ์ตระกูลของเจ้าชายโอมาล ผู้มีชื่อเดิมว่า อองรี ออฟ ออร์ลีอองส์ -Henri of Orléans)
เป็นภาพที่ตระกูลออร์ลีอองได้สั่งให้ศิลปินวาดขึ้น ในภาพ มีโถไทเรียนาอยู่ด้านหลังรูปพระแม่มารี ตามตำนานว่าเป็นโถบรรจุยาถอนพิษงูกัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย และโถไทเรียนากับลูกแอปเปิลในภาพเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการไถ่บาปแก่มวลมนุษย์ของพระคริสต์
ภาพมาดอนนาของราฟาเอล
ย้อนกลับไปที่ห้องโรทันดา ที่เชื่อมต่อกับแกลเลอรีหลัก มีภาพวาดผลงานของ ราฟาเอล (Raphael) อยู่หนึ่งภาพ ชื่อภาพ The Madonna of Loreto เรื่องราวสื่อถึง พระแม่มารีปัดเป่าโศกนาฎกรรมที่จะเกิดกับพระเยซูซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังการเดินทางของภาพนี้ก็ดรามาไม่แพ้ภาพใด
เมื่อแรกเจ้าชายโอมาลซื้อภาพThe Madonna of Loreto ของ Raphael นี้มา ทุกคนเข้าใจว่า เป็นเพียงภาพวาดเลียนแบบ (reproduction) ไม่ใช่งานต้นฉบับของจิตรกรเอกแห่งฟลอเรนซ์ (วาดไว้ในปี ค.ศ.1509) จนกระทั่งมีการค้นพบหลักฐานระหว่างการบูรณะภาพในปี 1976 ว่าภาพชิ้นนี้คือของจริง
Part 6
เก็บตกชิ้นเอกแห่งเรเนซองส์
ก่อนจะออกจากห้องแกลเลอรีเล็ก เดอะซานตูอาริโอ ยังมีงานเด่นแห่งยุคเรเนซองส์ ชื่อภาพ ชื่อภาพ Esther Chosen by Ahasuerus เป็นภาพวาดพานอรามาบนแผ่นไม้ คนวาดคือ Botticelli กับลูกศิษย์ของเขา Filippino Lippi ช่วยกันวาดขึ้นราวปีค.ศ. 1457 เป็นภาพเล่าเรื่องของ Esther และ Ahasuerus จากพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นงานที่แสดงการวาดภาพที่มีมิติชัดลึกที่สวยงาม เป็นพัฒนาการสำคัญของศิลปะอิตาลียุคเรอเนซองส์
ชมมรดกทางประวัติศาสตร์
นอกจากศิลปะภาพเขียน แล้ว งานศิลปะและของสะสมที่ล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์กองเด ที่ชาโตว์ชองติญี ยังมี
ห้องสมุด The Library เป็นห้องเก็บหนังสือเก่าแก่จากยุคกลาง ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณและภาษาละตินที่ใช้ในศาสนาเป็นพันเล่ม รวมถึงหนังสือคัดลายมือของพระจากยุคกลางของยุโรป ซึ่งนอกจากวัตถุหลักฐานทางวัฒนธรรมแล้ว สถาปัตยกรรมภายใน ก็ให้บรรยากาศที่หลุดเข้าไปเมื่อสี่ร้อยกว่าปีที่แล้ว
ขณะที่ห้องอื่นๆในพิพิธภัณฑ์กองเด เดินเลาะเลียบไปอีกหลายห้อง ยังมีงานศิลปะตกแต่งวัตถุที่สะสมมาจากวัฒนธรรมอื่น ที่มั่งคั่งทางศิลปวัฒนธรรมในอีกซีกหนึ่งของโลกตามยุคสมัยศตวรรษที่ 18-19อย่าง ศิลปะบนเครื่องเคลือบดินเผา ฉากกั้นจากจีน เล่าตำนานไซอิ๋ว ซึ่งเป็นของสะสมที่แสดงฐานะ
แบบว่าชาวจีนยุคมิลเลนเนียมเห่อกระเป๋าหลุยส์วิตตองของฝรั่งเศสอย่างไร ความเก๋ความเท่ความรวยความเลิศที่แสดงความมั่งคั่งและมีรสนิยมของคนตะวันตกในยุคศตวรรษก่อนๆ ก็เป็นงานศิลปะวิจิตรและแปลกตาเป็นของล้ำค่าจากดินแดนมังกร เช่นเดียวกัน
และงานสะสมศิลปะแนว Oriantalism จากดินแดนที่เชื่อมตะวันตกกับตะวันออก ซึ่งสะท้อนอิทธิพลจากช่วงชีวิตที่เจ้าชายโอมาลเคยเป็นรับราชการเป็นทหารชั้นแม่ทัพที่แอลจีเรีย สมัยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสด้วย
Part 7
ก่อนกลับออกมารับแดดด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ ออกจากตัวอาคารแกรนด์ชาโตว์ จะเห็น รูปปั้นทรงม้าหน้าชาโตว์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่บนม้า คือ อานน์ เดอ มงต์มอรองซี (Anne de Montmorency) ขุนนางตระกูลมงต์มอรองซี ซึ่งเป็นเจ้าของรุ่นแรกๆของชาโตว์หรือคฤหาสถ์ชองติญีแห่งนี้
อานน์ เดอ มงต์มอรองซี เป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เป็นทั้งนักการทูตแม่ทัพคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 16 ตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 (King Francis I) พระเจ้าอองรีที่ 2 (Henri II) และ พระเจ้าฟรานซิสที่ 2 ผ่านสงครามใหญ่ๆ ของฝรั่งเศสจนได้รับยกย่อง รูปสลักเหนือหลุมศพของอานน์ เดอ มงต์มอรองซี มีอยู่ที่ลูฟวร์ แต่ที่นี่เป็นรูปปั้นบรอนซ์ทรงม้า ที่สร้างขึ้นเป็นเกียรติประวัติของสถานที่นั่นเอง
สถานที่คฤหาสถ์อยู่ในอาณาเขตที่มีกิจกรรมล่าสัตว์ บรรดาสุนัขพันธุ์ท้องถิ่นของชองติญี ที่เป็นผู้ช่วยล่าสัตว์ของเจ้าของบ้านจึงได้ถูกจารึกไว้บนชิ้นงานศิลปะ ทั้งภาพเขียนบนผืนผ้า และรูปปั้นบรอนซ์ขนาดเท่าตัวจริง ที่เป็นทั้งยามเฝ้าประตูและทักทายผู้มาเยือน รูปวาดของเพื่อนสี่ขาแห่งชาโตว์ยังปรากฏอยู่ที่หน้าบันเหนือกรอบโค้งประตูในพิพิธภัณฑ์ และลวดลายบนเครื่องตกแต่งรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ในห้องจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์สไตล์หลุยส์ของฝรั่งเศส
ถ้าเวลาอยู่ทั้งวัน ก็ยังมีสวนสไตล์ฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17 และคอกม้าให้เยี่ยมชมได้อีก
แต่ในการเดินทางมาครั้งนี้ กับคณะทัวร์ BMW Golf Cup Special Edition –Ryder Cup ที่แวะมาชมศิลปะและท่องประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสก่อนเข้าร่วมชมการแข่งขันกอล์ฟชิงถ้วยไรเดอร์คัพที่ปารีส เรามีเวลาเพียง 2 ชั่วโมง หมดไปกับการชมแกลลอรีและพิพิธภัณฑ์ ถ้าสนใจไปชมบรรยากาศนอกเมืองปารีส ก็ลองไปชมกันได้
ข้อมูลสถานที่
ชื่อสถานที่ พิพิธภัณฑ์กองเด ชาโตว์ชองติญี ( Musee Conde, Chateau de Chantilly)
ที่ตั้ง 60500 Chantilly, France ตั้งอยู่ในเมืองชองติญี อยู่ห่างจากสนามบิน Charles de Gaulle ชาร์ลส เดอ โกล เพียง 20 นาทีและห่างจากเมืองปารีสไปทางทิศเหนือแค่ 40 กิโลเมตร เท่านั้น ค่าเข้าชม รายบุคคล 17 ยูโรในหนึ่งวัน (ราคาหมู่คณะดูได้ในเวบไซต์)
การซื้อบัตรและราคาบัตรเข้าชม ดูได้ตามเวบไซต์ www.domainedechantilly.com
ในเวบไซต์ เมเนจเจอร์ ออนไลน์ (ปี2001-2004) และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (2004-2016)
ปัจจุบัน-รับจ้างอิสระ งานเขียนและสร้างคอนเทนท์เนื้อหาบันเทิง ภาพยนตร์ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์
- ชมมาสเตอร์พีซเรเนซองส์ ที่ชองติญี - August 2, 2019
freelance writer / content creator / อดีต-พนักงานเขียนประจำกองบรรณาธิการกว่าสิบปี ด้านสายบันเทิงต่างประเทศ สังคม ท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ในเวบไซต์ เมเนจเจอร์ ออนไลน์ (ปี2001-2004) และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (2004-2016) ปัจจุบัน-รับจ้างอิสระ งานเขียนและสร้างคอนเทนท์เนื้อหาบันเทิง ภาพยนตร์ ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์