ราบิ้น ฮาสเซิน ศิลปินผู้ออกเดินทางตามหาแรงบันดาลใจจากต่างวัฒนธรรม
ดราฟท์แรก วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.46 น. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ต้นฉบับเรียบร้อย วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.39 น. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
28 มิถุนายน 2562 วันศุกร์สุดท้ายปลายเดือนมิถุนายน มีนิทรรศการศิลปะชื่อ “Fragments” ของราบิ้น ฮาสเซิน ที่ทำเก๋โดยจัดขึ้นเพียงวันเดียว ณ เรเบล อาร์ต สเปช ริซิเดนซ์ซี่ แท้จริงแล้วตัวศิลปินไม่ได้ตั้งใจให้การจัดแสดงผลงานครั้งนี้สั้นถึงขนาดนั้น ความตั้งใจแรกของเขาในระหว่างที่อาศัยอยู่ที่ เรเบล อาร์ต สเปซ ริซิเดนซ์ซี่ คือการทำการทดลองเล็กๆ โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาจะสามารถทำอะไรได้บ้างภายในระยะเวลา 30 วัน จากนั้นจึงค่อยๆศึกษาและทำความคุ้นเคยกับพื้นที่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า สวน สระว่ายน้ำ โรงรถ หรือแม้แต่ถนนด้านหน้าอาร์ตสเปซ แล้วจึงใช้พื้นที่ต่างๆเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นในช่วงที่เขาพำนักอยู่ในอาร์ตสเปซได้ราวครึ่งทาง ราบิ้นก็ตัดสินใจว่าจะจัดแสดงงานศิลปะ ทั้งภายใน และ รอบๆ สถานที่ที่เขาสร้างสรรค์งาน หรือก็คือ เรเบล อาร์ต สเปซ นั่นเอง
“ผมว่าคุณสามารถสัมผัสความเป็น ขบฎ ได้จากผลงานชิ้นล่าสุดนี้ของผม” ราบิ้นกล่าว “ด้วยเหตุนี้ผลงานทั้งหมดจึงควรจัดแสดงที่นี่ในครั้งแรก ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการได้แสดงผลงานในสถานที่ที่งานศิลปะเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้น แม้ว่าจะมีเวลาเพียงแค่วันเดียวก็ตาม” ราบิ้นต้องเตรียมตัวสำหรับงานแสดงนิทรรศการเดี่ยวของเขาซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เขาจึงจำเป็นต้องหอบผลงานทั้งหมดกว่า 94 ชิ้น ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์ตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่ เรเบล อาร์ต สเปช ริซิเดนซ์ซี่ บินกลับประเทศเนเธอร์แลนด์ บ้านเกิดทันทีที่จบนิทรรศการ
ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับราบิ้นถึงชีวิตของศิลปินในพำนัก (Artist in Residence หรือ Artist Residency) ซึ่งถือเป็นคำคุ้นเคยของคนในแวดวงศิลปะ แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป ราบิ้น อธิบายว่า หลักใหญ่ใจความของการเป็นศิลปินในพำนักคือการที่ศิลปินได้รับเชิญจากสตูดิโอ หรือสถาบันการศึกษาด้านศิลปะให้มาใช้ชีวิตและสร้างสรรค์งาน โดยอาศัยแรงบันดาลใจใหม่ๆ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ๆ ผสานกับตัวตนและแนวคิดของศิลปินเอง ไม่ต่างไปจากวิธีที่ศิลปิน ยุคก่อนออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเสาะหาแรงบันดาลใจ เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนต่างถิ่นแล้ว
สร้างสรรค์งานแปลกใหม่ ที่หลุดไปจากกฎเกณฑ์เดิมๆของตนเอง อย่างไรก็ตามโปรแกรมศิลปินใน พำนัก ของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่ของระยะเวลาตั้งแต่ เป็นสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือนรวมถึง ค่าใช้จ่ายบางครั้งศิลปินต้องออกค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักเองคล้ายกับการไปอยู่โฮมสเตย์ แต่บางครั้งก็มีทุน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้กับศิลปิน แลกกับผลงานส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ ระหว่างพำนักอยู่ การจัด นิทรรศการ หรือแม้แต่การจัดเสวนาศิลปะ
ราบิ้นจัดตนเองว่าเป็นศิลปินแนว Conceptual Art ที่สร้างสรรค์งานศิลป์ด้วยสื่ออัน หลากหลาย เขามาพำนักอยู่ที่ เรเบล อาร์ต สเปช ริซิเดนซ์ซี่ ได้ราวหนึ่งเดือนแล้ว ตามคำเชิญปนชวน ของวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปิน รุ่นใหญ่ผู้เป็นเจ้าของสำนัก ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินวัย 40 กว่าปีคนนี้ เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยปีก่อน เขาได้รับเชิญจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล ธัญบุรี ให้เป็นศิลปินในพำนัก นานกว่า 8 เดือน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้าน Conceptual Art ตามแนวทางศิลปะที่เขาถนัด อีกส่วนคือการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองร่วมกั ศิลปินชาวไทยและศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ จัดแสดงในชื่อ นิทรรศการ Sou·ve·nir – A thing that is kept as a reminder of a person, place, or event ที่ People’s Gallery หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและหากย้อนหลังกลับไปนานกว่านี้ราว 5-6 ปี ราบิ้น ก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในฐานะศิลปินในพำนักมาแล้วหลายครั้งทั้งในฝรั่งเศส และพม่า
“เหตุผลสำคัญที่ผมชอบเข้าโปรแกรมนี้ ในหลากหลายประเทศ ก็เพื่อไปหาแรงบันดาลใจ ใหม่ๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันผมก็หวังว่าคนที่นั่นก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากผม ได้ด้วยเช่นกัน” ราบิ้น กล่าว
โดยส่วนตัวราบิ้นเองก็เป็นส่วนผสมของหลากหลายวัฒนธรรมทั้งดัตช์ อินโดนีเซีย เยอรมัน และจีน ประกอบกับด้วยการเลี้ยงดูของพ่อและแม่ที่เปิดกว้างและอิสระให้ลูกคิดฝันได้ตามใจ ทำให้ เขามุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก แม้ปัจจุบันอาชีพศิลปินจะไม่ได้เป็นเพียงอาชีพหลักงานเดียว ที่เขาทำ แต่ทุกครั้ง เมื่อมีคนถามว่าเขาทำอาชีพอะไร ศิลปินจะเป็นคำตอบแรกของเขาเสมอ นอกเหนือจากงานสอนด้าน Conceptual Art ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ การทำงานให้แกลเลอรี่และ พิพิธภัณฑ์ Witte de With Centre for Contemporary Art และ TENT ในร็อตเตอร์ดัม หรือการร่วม สร้างสรรค์งานกับศิลปินคนอื่นๆ
“สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากประเทศไทยคือ หากคุณเป็นอาจารย์หรือศิลปิน ผู้คนส่วนใหญ่ ค่อนข้างให้ความเคารพและนับถือในอาชีพคุณ เช่นเดียวกันกับที่ฝรั่งเศส ซึ่งงานศิลปะของเขา สามารถทำเป็นอาชีพ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม รวมถึงยังมีศิลปินในอดีตมากมาย ที่ส่งผลต่อศิลปะยุคปัจจุบัน ทั้งโมเนต์ ปิกัสโซ่ ในทางกลับกันหากคุณไปพม่า การเป็นศิลปินในพม่า ไม่ใช่อาชีพที่คนทั่วไปให้ความสำคัญเท่าไร ไม่ต่างจากที่เนเธอร์แลนด์ ที่อาชีพศิลปินถูกมองแบบ เหมารวมว่าเป็นอาชีพของคนที่ไม่ทำงานทำการ ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงเราไม่ขี้เกียจเลย เราทำงานหนักเพื่อสะท้อนโลกรอบตัว และแสดงออกถึงความรู้สึกภายใน ผ่านงานศิลปะที่เราสร้างสรรค์ และเราก็ต้องทำงานศิลปะเพื่อหาเงินใช้จ่ายในชีวิตเหมือนกัน
ในขณะเดียวกันในแง่ของงานศิลปะก็ถูกจัดเป็นของที่เป็นควรเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือคอลเลคชั่นของเศรษฐีกระเป๋าหนักมากกว่า ไม่ใช่งานสำหรับคนทั่วไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สักวันหนึ่งความคิดนี้จะเปลี่ยนไป และคนทั่วไปจะตระหนักได้ว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสได้” ราบิ้น กล่าว
แม้การเป็นศิลปินในพำนักจะฟังดูเป็นงานในฝันสำหรับใครหลายคน ที่จะได้ออกเดินทาง ตามหาแรงบันดาลใจ แต่ในความเป็นจริงการใช้ชีวิตกลับต้องเรียบง่าย เรียกว่ากินง่าย อยู่ง่ายและ ปรับตัวง่าย เช่นเดียวกับความพร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆและความแตกต่างของผู้คนเสมอ เวลาเกือบปีที่ราบิ้น อยู่ในประเทศไทย เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้รถสาธารณประจำทาง การกินอาหารไทย (เขากินเผ็ดได้ กินสะตอได้ และยังกินปลาร้าได้ด้วย) รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรม และความเชื่อในแบบของคนไทยจนนำมา สร้างสรรค์งานศิลปะในนิทรรศการล่าสุดอย่าง “Fragments” ที่นำความเชื่อเรื่องสีประจำวันมาผสานกับงาน ศิลปะที่เขาใช้ร่างกายตนเองเป็น เครื่องมือในการทำให้เกิดภาพ การได้ออกมาทำงานแบบนี้ ทำให้ห้องทำงานของผมกว้างใหญ่ขึ้นมาก
5 ปีก่อนจะเริ่มออกเดินทาง ผมทำงานอยู่แค่ในสตูดิโอพื้นที่เล็กๆแคบๆ แต่พอได้ก้าวออกมา จากสถานที่เดิมๆ แม้ขนาดของสตูดิโอที่ทำงาน ในขณะเป็นศิลปินในพำนักจะได้ได้ใหญ่โตแต่ไอเดีย ความคิดที่ได้นั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก ตอนนี้ผมคิดเสมอว่า ผมสามารถทำงานได้ทุกที่ในโลกไม่จำเป็น ต้องอยู่ในกรอบของสตูดิโออีกแล้ว ประสบการณ์ ก็มากขึ้นด้วย”
ปัจจุบันราบิ้นยังคงทำงานที่สตูดิโอ CORSAGE-STUDIO ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ร่วมกับโรเบริ์ต สตรูมเบิร์ก ศิลปินวิดีโออาร์ต สตูดิโอแห่งนี้เคยได้รับรางวัล Jury Price จากนิทรรศการ ‘The Future of Fashion is Now’ ที่ Boijmans van Beuningen Museum ด้วย โปรเจกต์ HAT-DRESSES ซึ่งเป็น การออกแบบเครื่องแต่งกายจากใยป่านศรนารายณ์ จาก ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง งานศิลปะชุดนี้เกิดจากความคิดที่จะเปลี่ยนรูปร่าง ของหมวกให้เป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยมีความแปลกใหม่และความท้าทายตรงที่ศิลปินจะต้องค้นหา มุมมองเกี่ยวกับเครื่องประดับเดิมที่มีอยู่แล้วควบคู่ไปกับการระดมสมอง คิดไอเดียใหม่ๆ ว่าสิ่งนั้นๆ จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นในรูปแบบไหนได้บ้าง
ปีหน้าเขามีโปรแกรมไปจัดแสดงผลงานที่ประเทศจีนและเกาหลีและหากมีโอกาสก็อยากกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง และแน่นอนว่าเขายังสนุกกับการเป็นศิลปินในพำนัก โดยเฉพาะประเทศ ในแถบเอเชียที่เขารู้สึกว่า เหมือนเป็นบ้านอีกหลังและผู้คนให้การต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นเสมอ
“ส่วนตัวผมเองต้องบอกว่าค่อนข้างโชคดีที่มีแกเลอรี่และสตูดิโอที่พร้อมเป็นตัวแทนจัดแสดง งานให้ผมถึงยังสามารถทำงานศิลปะที่รักได้อยู่ ในอนาคตผมหวังอยากให้มีแกเลอรี่ศิลปะใน ประเทศไทยที่จะเป็นตัวแทนในการแสดงผลงานเช่นกัน ด้วยเหตุว่าประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ
เป็นสถานที่พิเศษในใจผมเสมอและงานศิลปะส่วนหนึ่งของผมก็เกิดขึ้นที่นี่ กรุงเทพฯ จึงเป็นเหมือน บ้านเกิดของผลงานแต่ละชิ้น ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากหากได้จัดแสดงงานในสถานที่และ ประเทศอันเป็นต้นกำเนิดของงาน”
ติดตามผลงานของราบิ้นได้ที่ rabinhuissen.blogspot.com อีเมล : huissenrabin@hotmail.com หรือติดต่อผ่านผู้แทนประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย กุลยา กาศสกุล 096 449 9516 อีเมล : yim@fyibangkok.com
- Seven Spoons สวรรค์ของคนรักอาหารอร่อย - November 25, 2019
- In Praise of WIJIT’s OIL PAINTING: 60×40 - October 1, 2019
- ชวนไปค้นหาสมบัติกับ 4 ตลาดนัดในโตเกียว ที่จะทำให้เสาร์-อาทิตย์ของคุณสนุกกว่าที่เคย - August 11, 2019
Writer & Photographer | ทำงานในนิตยสารผู้หญิงหัวนอกมานานเกือบสิบปีในตำแหน่งบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ จนหนังสือปิดตัวลง ตามสภาพความเป็นไปของโลก เลยตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์เต็มตัว และด้วยความที่รัก การท่องเที่ยวยิ่งชีพเลยขอบวกอาชีพนักเดินทางแถมเข้าไปในโปรไฟล์อีกหนึ่ง