Now Reading
เสียงเล็กๆ จากด่านหน้าสู้โควิด-19 ขอจงใช้ชีวิตแบบมีสติ และระดมทุนสู่ Resilience Creative Fund

เสียงเล็กๆ จากด่านหน้าสู้โควิด-19 ขอจงใช้ชีวิตแบบมีสติ และระดมทุนสู่ Resilience Creative Fund

ขณะที่คนส่วนใหญ่ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มต่างก็เก็บตัวอยู่กับบ้าน และพยายามตั้งการ์ดให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากแต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาสาเป็นด่านหน้าเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้คนในชุมชนแออัด หรือแม้แต่เป็นที่พึ่งคอยให้คำปรึกษาและต่อสู้เพื่อลมหายใจของใครอีกหลายคน เตเต้-พันชนะ วัฒนเสถียร เป็นหนึ่งในคนผู้เสียสละทำเพื่อคนอื่นอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีหัวใจกล้าหาญและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าใคร ทำไมต้องมาเหนื่อยยากและลำบากเพื่อคนแปลกหน้าขนาดนี้

ในโมงยามปกติก่อนวิกฤตโควิด-19 คุณเต้เป็นเจ้าของร้านอาหาร ‘เป็นลาว’ และนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กระทั่งวิกฤตโควิด-19 ระลอกแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2563 เธอจึงเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้งโปรเจ็คต์ ‘Food for Fighters: ข้าวเพื่อหมอ’ และต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ที่เธอยังคงต่อสู้เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยโควิด-19 และร่วมกับจิตอาสาหลายกลุ่ม เช่น เส้นด้าย คลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป ฯลฯ ในการช่วยเหลือผู้คนมากมาย ในวันที่การระบาดระลอก 3 กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะควบคุม

“เราไม่ได้ทำสิ่งพิเศษใดๆ เพียงแต่เรารู้ศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือ และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ช่วงการแพร่ระบาดในชุมชนคลองเตยเมื่อเดือนเมษายน 2564 สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือ การสนับสนุนข้อมูล ความรวดเร็วคล่องตัวในการช่วยเหลือ ทั้งที่เราไม่ได้เก่งกาจอะไร เพียงแต่เราไม่ต้องรอฟังคำสั่งจากใคร และเราตัดสินใจช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันที” เธอเริ่มต้นบทสนทนากับ fyi ในวันที่ตัวเลขผู้ป่วยทะลุ 17,000+ เป็นครั้งแรก

ภาคประชาชน: Self-awareness ในยามวิกฤตยิ่งต้องการทั้ง ‘สติ’ และ ‘สตรอง’

น้ำเสียงปลายสายดูมีความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า หลังการทำงานหนักติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ ความช่วยเหลือทั้งในฐานะจิตอาสาและที่ปรึกษาให้กับหลายคน บวกกับปัญหาด้านการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ทำให้คุณเต้อยากจะส่งเสียงเรียกร้องดังๆ ไปให้ถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“จากที่ทำงานจิตอาสาแนวหน้าทำให้พบปัญหาใหญ่คือ “การขาดสติ” และ “ตื่นตระหนก” หลายคนยังขาดการคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลข่าวสารที่ได้รับในแต่ละวัน จนเหมือนอยู่ในสภาวะสึนามิข่าวสารที่เราได้รับมาก แต่กลับขาดการกลั่นกรองหรือจัดการกับระบบความคิดของตัวเอง ทำให้กระบวนการแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น บวกกับการขาดความเตรียมพร้อมรับมือในสภาวะวิกฤต เหมือนที่ชาวญี่ปุ่นซ้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้เรามองว่ามันคือ Self-awareness ที่คนไทยอาจไม่ได้รับการปลูกฝังมาอย่างดีเท่ากับบางประเทศ”

คุณเต้เสริมด้วยว่า นอกจากการรวบรวมสติและพยายามทำใจเย็นไว้ก่อน ลองประเมินอาการตัวเองว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มไหน ลักษณะอาการคล้ายโควิด-19 สายพันธุ์ใด จากนั้นให้ดูแลตัวเองเบื้องต้น ควบคู่กับการประสานงานกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ และไม่ควรไปรอการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีโดยไม่แจ้งกับเจ้าหน้าที่ เพราะหลายเคสทำให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต้องกักตัว

“อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บุคลากรทางแพทย์ติดโควิด-19 กันมาก เพราะคนไข้บางคนรู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว แต่กลัวจะไม่ได้เตียงหรือไม่ได้รับการรักษาเลยไปนั่งรอที่โรงพยาบาล แต่ไม่บอกใครเลยว่าติดเชื้อหรือแม้แต่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันได้ใส่ชุด PPE หรือป้องกันตัวเอง เลยต้องกักตัวและเสียกำลังหลักไปอีกหลายคน ดังนั้น หากรู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่ไปถึงโรงพยาบาล หรือประสานงานเพื่อให้รถมารับตัว เจ้าหน้าที่จะได้ป้องกันตัวเองไว้ก่อนและลดการขาดแคลนบุคลากรในภาวะวิกฤตเช่นนี้”

ภาครัฐและเอกชน: จัดการกับ ‘Big Data’ และความฝันที่จะก่อตั้ง ‘Resilience Creative Fund’

หลายครั้งที่การลงพื้นที่ของจิตอาสาเต็มไปด้วยความสับสนของข้อมูลข่าวสาร เมื่อความช่วยเหลือถูกส่งมาจากทุกสารทิศในวิกฤตโควิด-19 หากแต่การบูรณาการและการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ จากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายคนสับสนกับการช่วยเหลือของภาครัฐ จนถึงการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หนึ่งในประเด็นที่คุณเต้ตั้งคำถามกับภาครัฐ คือการจัดการกับ Big Data ด้วยวิถีบูรณาการ อันประกอบด้วย ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Volume) มีความซับซ้อนหลากหลาย (Variety) มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา (Velocity) และยังไม่อาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้ (Veracity)

“เต้ไม่แน่ใจว่า หน่วยงานภาครัฐมีการจัดการกับ Big Data อย่างไร? แต่จากการลงพื้นที่ทำให้เราพบว่า ยังขาดความทันสมัยในการบูรณาการ หรือศูนย์รวมข้อมูลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้ความช่วยเหลือรวดเร็วและเป็นระบบขึ้น ดูง่ายๆ อย่างการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ที่หลายคนลงทุกช่องทางเพราะไม่รู้ว่าข้อมูลจะเชื่อมต่อกันหรือไม่? พอได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็อาจจะไม่ได้ยกเลิกการลงทะเบียนที่อื่นๆ ทำให้ไปกั๊กสิทธิ์ของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หรือกรณีที่คนป่วยขอความช่วยเหลือไปทุกๆ ช่องทาง แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจไม่เชื่อมถึงกันเลย

“อย่างที่เต้เจอโดยตรงกับ Food for Fighters คือการขอรับบริจาคอาหารให้กับแคมป์คนงานต่างๆ มีคนหลังไมค์กันมาเยอะมาก ความตลกคือวันหนึ่งข้อมูลนั้นวนกลับมาหาเราอีกที ทั้งที่เราเป็นคนลงขอความช่วยเหลือไปเมื่อหลายวันมาแล้ว ดังนั้น จิตอาสาเองก็ต้องบูรณาการข้อมูลด้วยเช่นกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อนหรือกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เหมือนตอนที่ความช่วยเหลือหลั่งใหลไปยังชุมชนคลองเตย แต่กลับกระจุกตัวอยู่กับชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ทั้งที่ชุมชนคลองเตยคลองเตยมีประชากรเกือบ 120,000 คน ประกอบด้วย 41 ชุมชน บางบ้านอาจได้รับความช่วยเหลือมากกว่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการช่วยเหลืออีกเช่นกัน”

คุณเต้ยังนำเสนอเรื่อง ‘Resilience Creative Fund’ หรือกองทุนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้มหาเศรษฐี คนมีฐานะดี และบริษัทใหญ่ๆ สนับสนุนเงินช่วยเหลือให้กับจิตอาสาทั่วประเทศโดยไม่มีเงื่อนไข

“แทนที่จะมาพูดเรื่อง CSR ขององค์กร ซึ่งไม่คล่องตัวเท่าไหร่ในเวลานี้ เต้มองว่า มันเป็นเวลาที่คุณต้องสนับสนุนคนตัวเล็กๆ ที่ลงพื้นที่ไปสู้กับโรคระบาด เช่น เส้นด้าย คลองเตยดีจัง ฯลฯ คุณจะตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบการใช้เงินของมูลนิธิต่างๆ ก็ได้ แต่เบื้องต้นคนตัวเล็กๆ ต้องการความรวดเร็วในการช่วยเหลือ เพราะบางบริษัทต้องรอตั้งงบประมาณซึ่งเสียเวลานานมาก ขณะที่ทุกวันนี้คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราหรือคนธรรมดานี่แหละ ที่ช่วยเหลือกันเองจนตัวลีบหมดแล้ว”

ในฐานะจิตอาสาและผู้หญิงแนวหน้า ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน และผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เสียงเล็กๆ ของเธอย่อมมีน้ำหนักและมีความหมายอย่างมาก หากแม้เราได้นำมุมมองความคิดของเธอมาประยุกต์ใช้กับตัวเองทั้งในภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยคุณสามารถติดตามเพจที่ให้คำแนะนำเรื่องโควิด-19 สนับสนุนการทำงานของทีม Food for Fighters และการขอความช่วยเหลือต่างๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/FoodForFightersTH / https://www.facebook.com/savethailandsafe และ https://www.facebook.com/zendai.org/  

4 คำแนะนำจากใจจิตอาสาและคุณหมอคนดังในโซเชียลฯ

คุณเต้แนะนำว่า ในกรณีที่คุณติดโควิด-19 ให้รีบสังเกตตัวเองว่า น่าจะติดสายพันธุ์ไหน? และประเมินอาการเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่กลุ่มไหน? (กลุ่มสีเขียว เหลือง แดง) จากนั้นให้รักษาตามอาการไปก่อนระหว่างรอการช่วยเหลือ เช่น ท้องเสียมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำอัดลมผสมเกลือ หรือน้ำหวานผสมเกลือ การดูแลตัวเองเบื้องต้นเหล่านี้จำเป็นมาก หลังจากนั้นเราจำเป็นต้องรู้สิทธิของตัวเอง เช่น ประกันสังคมกับโรงพยาบาลไหน? กรณีที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงให้สอบถามว่าโรงพยาบาลสามารถส่งต่อไปผู้ป่วยไปที่ไหนได้บ้าง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดเดียวกันหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อความรวดเร็วในการประสานขอความช่วยเหลือ แทนที่จะรอให้เจ้าหน้าที่ติดต่อมาอย่างเดียวอาจจะไม่ทันการณ์

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย เจ้าของช่อง Dr.V Channel ทาง YouTube แนะนำให้คนไข้กลุ่มสีเขียวควรเตรียมเครื่องวัดอุณหภูมิ (วัดไข้) เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และควรลงทะเบียนผ่าน Home Isolation (โทร.1330 ต่อ 14) โดยจะมีหมอคอยให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง และเช็คอาการป่วยทุกวัน ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและเหลืองที่ยังไม่เข้าโรงพยาบาล มักจะมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ หรือท้องเสีย รวมถึงหาซื้อยาจากร้านขายยามารับประทาน ได้แก่ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอและเจ็บคอ (แนะนำสเปรย์คาโมมายล์ ช่วยลดการอักเสบและควรพ่นให้ลึกถึงด้านในของลำคอ) ยาละลายเสมหะ (แนะนำ NAC Long – เม็ดฟู่ละลายในน้ำ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคได้) และเกลือแร่ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย หรือสามารถใช้แอพพลิเคชั่น Raksa เพื่อปรึกษาคุณหมอได้

การทำ Home Isolation จำเป็นมากในภาวะวิกฤตแบบนี้ นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ แนะนำว่า “ระบบจะมีแพทย์และพยาบาลคอยประเมินอาการผู้ป่วยทุกวัน รวมถึงสามารถสั่งยาฟ้าทะลายโจร ยาที่จำเป็นต่างๆ และยาในกลุ่มต้านไวรัส Favipiravir รวมถึงเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว โดยไม่ต้องรอให้มีอาการรุนแรง การเริ่มรับประทานยาเร็วจะช่วยป้องกันผู้ป่วยจากกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มสีเหลืองและสีแดงได้ดีมาก”

Home Isolation คือการแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดคือ “การแยกกักตัว” แยกอุปกรณ์รับประทานอาหาร ห้องน้ำ (ถ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เป็นคนสุดท้าย และล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำหรือแอลกอฮอล์) สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ในครอบครัว 2 เมตร อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี ลางทำความสะอาดมือหรือล้างแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน ที่สำคัญควรวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วและวัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการเหนื่อย หอบ ไข้สูงให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ทันที

จำไว้ว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่ใช้ใน “การรักษาโรค” กรณีที่ติดโควิด-19 แล้วเท่านั้น (รู้ผลจากแล็ปที่เชื่อถือได้) ไม่ใช่ยาป้องกันการติดโควิด-19 และผู้ป่วยในกลุ่มโรคไตและโรคตับควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน หากจะรับประทานฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษา จะต้องกินให้ได้ปริมาณสาร Andrographolide วันละ 180 มิลลิกรัม ควรสังเกตฉลากข้างขวดยา เช่น บางยี่ห้อมีฟ้าทะลายโจร 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด แต่มี ปริมาณ Andrographolide 10 มิลลิกรัม เท่ากับต้องรับประทานอาหารวันละ 18 เม็ด (มื้อละ 6 เม็ดหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น) โดยรับประทานไม่เกิน 5 วันเท่านั้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์

กดติดตามเราได้ที่

website       :        www.fyibangkok.com

facebook     :       

instagram    :       

twitter         :       

youtube       :       

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์

สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)