120 โรงเรียนราชินี : เปิดบันทึกจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาของสตรีไทย และตำนานสุนันทาลัย สถาปัตยกรรมยุคนีโอคาสสิกอายุ 144 ปี อนุสรณ์สถานแสดงความอาลัยรักที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ตั้งขอโรงเรียนราชินี

เนื่องในปีพ.ศ.2567 เป็นปีที่โรงเรียนราชินีได้รับพระราชทานกำเนิดครบ 120 ปี เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี และพระกรุณาธิคุณในพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี
ทางโรงเรียนราชินีจึงจัดกิจกรรมเพื่อเริ่มต้นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 120 ปีโรงเรียนราชินี ในวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยจัดการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการศึกษาของสตรีไทย โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
และ การเสวนาวิชาการ เรื่อง โรงเรียนราชินี : มุมมองประวัติศาสตร์พื้นที่และสถาปัตยกรรมของอาคารสุนันทาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง และ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนารมย์ ดำเนินการเสวนา โดย คุณสุชาทิพ จิรายุนนท์ ณ ห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา โรงเรียนราชินี

สำหรับกิจกรรมสำคัญในปีแห่งการฉลองครอบรอบโรงเรียนราชินี จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 ได้แก่ นิทรรศการทางวิชาการ “ราชินีนิทรรศน์” ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม “120 ปีราชินีแรลลี่” 31 สิงหาคม “คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี” 30 พฤศจิกายนและ งานคืนสู่เหย้า “พิกุลแก้วสู่สวนขวัญ” ในวันที่ 21 ธันวาคม
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ค “120 ปีราชินี ศักดิ์ศรีกำจรจาย” https://www.facebook.com/rajinischoolAnni
โรงเรียนราชินี : จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาของสตรีไทย

โรงเรียนราชินี เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานกำเนิดจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2447 ณ ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และจักรเพชร ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับสตรีไทยได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีความชำนาญทางการช่างฝีมือที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีการอบรม ศีลธรรม จรรยา และมารยาท เพื่อยกระดับสตรีไทยให้พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถรอบด้าน

ทรงโปรดให้จ้างครูจากประเทศญี่ปุ่น 3 คนมาสอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปักและการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง โดยมี มิสเทตสุ ยาซูอิ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาทรงจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีก 1 คน มีการเปิดรับนักเรียนกินนอนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในปี 2448 ต่อมาทรงของพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย้ายโรงเรียนมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัยจนถึงปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาสตรีไทย ในยุคแรกเริ่มนักเรียนที่จบการศึกษาจะออกไปสนองพระเดชพระคุณรับราชการในราชสำนัก ต่อมาเมื่อมีการเปิดโอกาสให้สตรีเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลให้มีนักเรียนราชินีเข้าเป็นนิสิตหญิงรุ่นแรกของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนนิสิตแรกเข้า
ปี 2476 นางสาวสายหยุด เก่งระดมยิง นักเรียนราชินีได้เป็นนักเรียนสตรีคนแรกที่สอบชิงทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศได้ และในปีต่อๆมานักเรียนราชินีก็สามารถสอบเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง
นับได้ว่าโรงเรียนราชินีเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทย อันเป็นการช่วยยกระดับสถานะของสตรีไทยให้เท่าเทียมกับบุรุษ ตลอดระยะเวลา 120 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนราชินีได้สร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพและมีผลงานที่ได้รับการยอมรับของสังคมในทุกสาขาอาชีพ ทั้งในวงการแพทย์ เภสัชกรรม การศึกษา กฎหมาย การเมือง สังคมสงเคราะห์ วรรณกรรม ตลอดจนวงการบันเทิง

“สุนันทาลัย” คุณค่าทางสถาปัตยกรรมและต้นแบบการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทย
อาคารสุนันทาลัย เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน แสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม เมื่อปี 2423 ต่อมาได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยและโรงเรียนราชินีในเวลาต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน
สุนันทาลัย เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น อายุกว่า 144 ปี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้ามีมุขเป็นรูปมงกุฎยื่นออกมา ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นงดงาม ซุ้มประตูทำเป็นรูปโค้งรองรับด้วยเสาโครินเธียน ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนในช่องระหว่างเสา

มีทางขึ้นชั้นสองอยู่ด้านนอกอาคาร โครงสร้างใช้กำแพงเป็นตัวรับน้ำหนัก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องไม่มีกันสาด โดบมีทางเดินโดยรอบทำหน้าที่แทนกันสาด เหนือกรอบประตูมีการเจาะช่องแสงประดับกระจกเป็นรูปวงกลมทำให้เกิดการสะท้อนของแสงเป็นสีที่มีความงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา
อาคารสุนันทาลัยเป็นสถานที่เรียนดนตรีและนาฏศิลป์ของนักเรียนราชินีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ในปี 2525 อีกทั้งเป็นอาคารอิฐก่อขนาดใหญ่หลังแรกในประเทศไทยที่ได้รับการปรับปรุงบูรณะและยกให้สูงขึ้นจากระดับเดิมถึง 1.25 เมตร โดยไม่มีปัญหาทรุดตัว นับเป็นความภูมิใจของวงการวิศวกรไทยที่สามารถยกอาคารที่มีอายุมากกว่า 100 ปีได้สำเร็จ และเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาการทรุดตัวของโบราณสถานต่างๆในประเทศไทย

พระราชประวัติแห่งองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2406 สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานนามอันเป็นมงคลยิ่งว่า เสาวภาผ่องศรี
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงมีพระวิริยะพระปัญญาเฉียบแหลม แม้จะไม่มีโอกาสได้ทรงศึกษาเล่าเรียนนักก็ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถามหมั่นตริตรองตามวิสัยบัณฑิตชาติ จึงทรงทราบสรรพวิชา อันควรจะทราบได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานพระองค์ไว้ในตำแหน่งพระมเหสี ทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นลำดับ จนในปี 2440 ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงรับผิดชอบพระราชภาระผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่ง ทรงวินิจฉัยราชการแผ่นดินด้วยพระอัจฉริยภาพนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขและสงบเรียบร้อย จึงทรงเป็นพระบรมราชินีนาถที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ในการร่วมวินิจฉัยราชกิจสำคัญตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระเดชพระคุณอันล้นพ้นแห่งพระองค์ในฐานะสมเด็จพระราชมารดา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอิสริยยศ และเฉลิมพระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และข้าราชบริพารพร้อมใจกันถวายพระสมัญญาที่เป็นการถวายพระพรด้วยความเทิดทูนอย่างสูงสุดว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง”


ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนราชินีจึงได้ถือกำเนิดขึ้นและได้สานต่อแนวพระราโชบายทางการศึกษาของพระองค์ท่านที่ว่า
“ให้สตรีไทยได้ศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ทางการช่างฝีมือขนาดสามารถประกอบอาชีพ ได้ให้อ่านออกทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสามารถเขียนให้ผู้อื่นเข้าใจให้มีการอบรมศีลธรรมจรรยาและมารยาท ”

พระราชวงศ์จักรีกับโรงเรียนราชินี
จากแนวพระราโชบาย สู่ปรัชญาอันสำคัญของโรงเรียนที่ว่า เลิศความรู้คู่จริยา ทำให้โรงเรียนราชินี มีเกียรติประวัติอันยาวนาน ในการปลูกฝังอบรมนักเรียนราชินีทุกคนให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ ทักษะงานฝีมือ และเป็นผู้มีความประพฤติ มีกิริยามารยาทเป็นกุลสตรีไทย สตรีไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าจึงล้วนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินี โดยเฉพาะสายพระราชวงศ์จักรี อาทิ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
กดติดตามเราได้ที่
website : www.fyibangkok.com
facebook : https://www.facebook.com/fyibangkok
instagram : https://www.instagram.com/fyibangkok
twitter : https://twitter.com/fyibangkok
youtube : https://www.youtube.com/channel/UChhOQmckv2fqgkXJZ-Q1nCA
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com
โทรศัพท์ 096 449 9516
- POPIA, a group exhibition with Pokchat Worasub, Hadrien Gerenton and COFIThe show includes photography, painting, installation, drawing and sculpture. - December 8, 2023
- ร่วมดื่มด่ำและตื่นตาตื่นใจกับ เทศกาลไฟและศิลปะดิจิทัล Awakening Bangkok ประจำปี 2023 - November 29, 2023
- ตามรอยยิ้ม - November 27, 2023