‘ขวัญเอย ขวัญมา’ ศิลปะแห่งการฮ้องขวัญของศิลปินเชียงดาวที่ ‘Hippocampus Gallery’
นับตั้งแต่โรคระบาดได้สร้างความหวาดกลัวและความโศกเศร้าให้คนทั่วโลก เมืองท่องเที่ยวก็เงียบเหงาไปถนัดตา 2 ศิลปินเชียงดาวจึงเลือกที่จะถ่ายทอดผลงานศิลปะจากประติมากรรมผ้าทอง และรูปทรงปฏิมากรรมที่ไม่ซับซ้อน ทว่าอบอุ่นด้วยจินตนาการผ่านเทคนิคและวัสดุที่หลากหลาย สื่อถึงความเชื่อดั้งเดิมของล้านนาอันเมื่อขวัญหายจากโรคระบาด ก็ถึงเวลาที่เราจะเรียกขาน ‘ขวัญเอย ขวัญมา’ ผ่านผลงานศิลปะที่ Hippocampus Gallery
ท่ามกลางปุยเมฆและหมอกขาวของ Hippocampus
บ้านพักแบบโฮมสเตย์ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาและดวงดาวในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ชื่อเรียกว่า ‘Hippocampus’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เก็บบันทึกความทรงจำระยะยาว เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้านตั้งใจให้โฮมเสตย์แห่งนี้เป็นที่จดจำของผู้มาเยือนไปแสนนาน
ในรั้วรอบของ Hippocampus นอกจากจะมีบ้านไม้สองชั้นไว้ต้อนรับนักเดินทาง ยุ้งข้าว และบ้านพักส่วนตัวของเจ้าของโฮมสเตย์ โอบล้อมแปลงผัก นาข้าว และฝูงห่าน ที่มองแล้วเพลินตา ยิ่งช่วงอากาศหนาวและวันฝนโปรยก็ชวนให้รู้สึกสงบใจอย่างประหลาด ราวกับเราได้ซ่อนตัวจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ชั่วคราว แล้วยังมี Gallery เล็ก ๆ ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินท้องถิ่น รวมถึงศิลปินต่างชาติที่อาจแวะมาพำนักในเชียงใหม่
หลังปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงโควิด-19 แกลเลอรีได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ประเดิมด้วยผลงานศิลปะชุด ‘ขวัญเอย ขวัญมา’ ภาษาล้านนาเรียกว่า ‘ขวัน’ (ขวัญ) ของ 2 ศิลปินเชียงดาว ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล และ พรประเสริฐ ยามาซากิ เพื่อเป็นการเรียกขวัญของทุกคนให้กลับมา หลังผ่านช่วงเวลาอันหม่นเศร้าของโรคระบาดใหญ่
ให้ศิลปะทำหน้าที่ปลอบประโลมจิตใจและปลุกเร้าความมีชีวิตชีวา ตรงกับความเชื่อของ Hippocampus
ศิลปะแห่งการ ‘ฮ้องขวัญ’ ของศิลปินถิ่นเชียงดาว
ขวัญเป็นความเชื่อของชาวอุษาคเนย์มาแต่ครั้งอดีตกาล เช่นเดียวกับที่ชาวล้านนาเชื่อว่า ขวัญเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายของคนเรา ขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ และไม่มีรูปร่าง โดยทุกอวัยวะต่างก็มีขวัญ (จิต) ประจำอยู่ทั้งหมด 32 ขวัญ เช่น ขวัญตา ขวัญขา ขวัญใจ ฯลฯ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนหรือขวัญหายจะทำส่งผลให้กาย-ใจของเจ้าของขวัญจะเสียใจ ท้อแท้ อ่อนแอ และไร้เรี่ยวแรง
เชื่อกันว่า ขวัญอาจหนีหายไปจากเจ้าของเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งขวัญอาจไปเที่ยวเล่นเพลินและหลงทางจนหาทางกลับสู่ร่างไม่ได้ ส่งผลให้เจ้าของขวัญเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย หรือหมดลมหายใจ ชาวล้านนาจึงมีประเพณี ‘ฮ้องขวัญ’ หรือ ‘เรียกขวัญ’ จะทำให้เจ้าของขวัญมีความสุขกาย สบายใจ มั่นใจในตัวเอง และเปี่ยมด้วยพลังใจ ชาวล้านนาเรียกว่า ‘ขวัญอยู่กับเนื้อตัว’ ดั่งคำปลอบประโลมที่เรามอบให้แก่กัน “ขวัญเอย ขวัญมา” อันเป็นแรงบันดาลใจในการจัดแสดงผลงานของศิลปินทั้งสองคน
ประติมากรรมผ้าปิดทอง ของไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล
ตุ๊กตาไร้หน้าใช้ชื่อว่า ‘เจ้านายเล็ก ๆ’ เป็นงานประติมากรรมผ้าปิดทอง เช่นเดียวกับ ‘พระปางเปิดโลก’ และผลงานชิ้นอื่น ๆ ของไพโรจน์ เห็นจะมีพระพิฆเนศวร 6 กรปางร่ายรำ ที่มีดวงตาและท่วงท่าอ่อนช้อย ไพโรจน์เป็นศิลปินที่มีความหลงใหลในงานประติมากรรมผ้าปิดทอง ที่หลอมรวมองค์ความรู้เชิงช่างล้านนาโบราณเข้ากับงานออกแบบผ้าร่วมสมัย รวมถึงการนำความรู้เรื่องเคมีวัสดุอาหารและคุณสมบัติเด่นของอาหารที่ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัย มาสร้างสูตรปูนปั้นและน้ำยาเคลือบผ้าด้วยตัวเอง
ในวงการศิลปะ ไพโรจน์เรียกตัวเองว่า ‘เป่าอี้ดีที่สุด’ ส่วนชื่อในวงการนักเขียนคือ ‘ภูนนท์ นนทภู’ ชายผู้เผชิญกับชีวิตมากว่า 44 ปี ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกหม่นเศร้าจากโรคติดต่อร้ายแรง ไพโรจน์พบว่าตัวเองก็มีปัญหาด้านสุขภาพจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ในช่วงเวลาที่พลังแห่งการสร้างสรรค์ถดถอย การรอดชีวิตในครั้งนั้นจึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และแรงบันดาลใจให้เขากลับมาทำงานศิลปะที่เขารักอีกครั้ง
หากเวลาของเขาบนโลกนี้หมดลง อย่างน้อยก็ยังมีงานศิลปะของเขาที่กล่อมเกลาโลกใบนี้ให้น่ารัก-น่าอยู่
ผลงานที่ไพโรจน์นำมาแสดงในงานแสดงศิลปะชุดนี้ เกิดจากแนวคิดที่อยากสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวของของตัวเอง สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ จิตวิญญาณ ความรัก ความสนุกสนาน ความวิจิตรงาม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งบำรุงใจ บำรุงชีวิตให้มีความสุข มีคุณค่า ไพโรจน์หวังว่าศิลปะของเขาจะสามารถส่งผ่านความรู้สึก ความงาม และ ความสุข ทำให้ทุกคนใจฟูและขวัญดี
ปฏิมากรรมแห่งความสนุกและความฝัน ของพรประเสริฐ ยามาซากิ
ห้วงอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งความสุข ความทุกข์ ความสนุก และความเศร้า ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจการดำรงอยู่ของชีวิตที่ย่อมมีทั้งสุขทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วก็จะผ่านไป ขอเพียงเรามีสติ มีมุมมองชีวิตที่ดีเป็นพลังชีวิตให้มีกำลังใจ
“ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ ผมตั้งใจจะสื่อสารออกมาด้วยความเรียบง่าย ถ่ายทอดผ่านรูปทรงปฏิมากรรมที่ไม่ซับซ้อน ด้วยเทคนิคและวัสดุที่หลากหลายเป็นจินตนาการที่ได้บันดาลใจจากการ์ตูน หรือของเล่นที่เกิดจากการโต้ตอบกับวัสดุ จนเกิดเป็นชิ้นงานบนพื้นฐานของความสนุกที่ทำให้เกิดความคิดอันนำมาซึ่งความสุข” พรประเสริฐ พูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลป์
ปฏิมากรรมทั้ง 4 ชิ้นของพรประเสริฐ ยามาซากิ ชวนให้เราเข้าถึงความเป็นคนสนุกคิดและลุ่มลึกในแบบของเขา ‘Giraffe Pomelo Never Gives Up’ เกิดจากจินตนาการสนุก ๆ ถึงการทรงตัวของยีราฟที่มีลำคอยาว การดำรงชีวิตจึงต้องมีความสมดุลทางกายภาพอย่างมาก เขาจินตนาการถึงชีวิตของคนเราที่ต้องมีสมดุล หากล้มลงก็จงลุกขึ้นให้ได้ดั่งเช่นยีราฟล้มลุกที่ไม่เคยยอมแพ้
เขายังนึกถึงความพยายามและความมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าสถาบันศิลปะในฝัน เขาจึงสร้างสรรค์ปฏิมากรรมรูปทรงแปลกตา ‘Pencil boy don’t cry’ดินสอวาดรูปที่เหลาจนสุดกลับหัก เสมือนอุปสรรคที่เราพบเจอ แต่ในความมุ่งมั่นพยายามเราก็จะทำมันได้สำเร็จ
ในฐานะศิลปินที่ผูกพันกับวิถีชีวิตเรียบง่ายในเชียงดาว ‘Lonely Meteorite not Lonely’ จึงเป็นผลงานที่สื่อถึงความหลงใหลในทุกครั้งที่มองดูดวงดาวบนท้องฟ้า เราจะเห็นดาวบางดวงซ่อนตัวอย่างเงียบเหงาและเปล่เปลี่ยว ท่ามกลางความกว้างเกินจินตนาการของพื้นที่ ระยะทาง และห้วงเวลาในความมืดมิดของจักรวาล แต่ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งดาวดวงนั้นอาจจะได้พบเจอกับเพื่อน ซึ่งอาจจะเป็นบางสิ่งที่ดูกระจิดริดหรือใหญ่โตมโหฬาร คำว่า ‘เพื่อน’ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็คือเพื่อน และเราอยู่ในจักรวาลเดียวกัน
ปิดท้ายด้วย ‘Way’ หนึ่งในสองผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัสดุที่พบเจอ ด้วยความประทับใจต่อความงามของชิ้นไม้จากบ้านเก่า ที่ถูกทิ้งให้ผ่านสภาพอากาศจนเกิดร่องรอยการผุพัง เขาจินตนาการถึงความอดทนต่อความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำให้ท่านได้ค้นพบทางสายกลางอันนำมาซึ่งความเข้าใจเส้นทางที่เข้าถึงการหลุดพ้นจากทุกข์ การนำชิ้นไม้มาแกะ ตัด ขัดเกลา จนเป็นรูปทรงที่สื่อถึงพระพุทธเจ้าเพื่อเตือนสติถึงหนทางที่เราเลือก และจะเดินไปในห้วงเวลาแห่งความทุกข์
Hippocampus Gallery จัดแสดงผลงานศิลปะชุด ‘ขวัญเอย ขวัญมา’ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2566 -31 มกราคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 062 929 4936 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง https://www.facebook.com/HippocampusChiangdao
กดติดตามเราได้ที่
website : www.fyibangkok.com
facebook :
instagram :
twitter :
youtube :
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com
โทรศัพท์ 096 449 9516
- รวมไอเดียแฟชั่นชุดกี่เพ้า ตรุษจีนปีนี้คุณต้องเก๋จัดกว่าใคร - January 20, 2020
- พัทยาพาฟิน! ขับรถไปเช็คอินเก๋ๆ ที่ร้าน ‘ไทยมาเช่’ กันดีกว่า - December 5, 2019
- นิทรรศการ Living Cemetery นิทรรศการเดี่ยวของปราง เวชชาชีวะ - August 30, 2019
สมัชชา เกิดมาในยุคภาพถ่ายขาวดำและกล้องฟิล์มผ่านการร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพจาก.
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมงานถ่ายภาพกับเอเจนซี่ชื่อดังก่อนจะไปใช้ชีวิตที่ลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
สมัชชา เป็นช่างภาพมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างความมหัศจรรย์และมนต์เสน่ห์ให้แก่ภาพถ่ายทุกภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านการจัดวางองค์ประกอบ การให้แสง ตลอดจนการทำ Post Production เขามีปรัชญาการทำงานว่า “สร้างความแปลกใหม่ให้กับงานธรรมดาๆ แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง”
สมัชชา ยังคงถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตอันแสนจะวุ่นวายกับภรรยาและแมวอีก 40 ตัว