Now Reading
“เรือนบรรเลง” เรื่องเล่าหนึ่งวันในพิพิธภัณฑ์ดนตรีไทย

“เรือนบรรเลง” เรื่องเล่าหนึ่งวันในพิพิธภัณฑ์ดนตรีไทย

หากจะมีเรือนไหนที่อบอุ่นไปด้วยเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ “เรือนบรรเลง” คงเป็นหนึ่งในนั้น สำหรับคนรักแผ่นเสียง เครื่องดนตรีวินเทจ และท่วงทำนองไพเราะของดนตรีไทย ไม่มีที่ไหนจะทำให้คุณสุขใจไปกว่าการได้ใช้เวลาหนึ่งวันในเรือนไม้สักหลังทรงปั้นหยาหลังนี้ เรือนที่เพิ่งฉลองอายุครบ 85 ปี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ที่คุณจะได้สัมผัสถึงความสงบเย็นเป็นสุข คล้ายกับจะอนุญาตให้คุณปลดเปลื้องตัวเองจากความวุ่นวายของโลกภายนอก เพื่อมาสัมผัสชีวิตเนิบช้าและ ‘ลมหายใจของดนตรีไทย’ ที่ยังคงบรรเลงท่วงทำนองไพเราะเสนาะหู…เฉกเช่นวันวานเมื่อครั้งหลวงประดิษฐไพเราะยังคงมีชีวิต

ป้ายไม่สีแดงบริเวณด้านหน้าเรือนบรรเลง
ป้ายไม้สีแดงบริเวณด้านหน้าเรือนบรรเลง

fyi พาคุณก้าวย่างเนิบช้า แล้วออกเดินทางไปค้นพบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความรัก แรงศรัทธา ที่มีต่อดนตรี กวี ศิลปะ ปรัชญา และศาสนา เล่าขานผ่านเสียงทุ้มนุ่มของ คุณเอ้-อัษฎาวุธ สาคริก เจ้าของเรือนคนปัจจุบัน พร้อมเสียงกังวานใสของเครื่องดนตรีไทยที่ขับคลอเป็นเสียงประสานตลอดการสนทนา

คุณเอ้-อัษฎาวุธ สาคริก เจ้าของเรือนคนปัจจุบัน
คุณเอ้-อัษฎาวุธ สาคริก เจ้าของเรือนคนปัจจุบัน
ชั้นสองของเรือนบรรเลง เป็นส่วนจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยโบราณและหนังสือหายาก
ชั้นสองของเรือนบรรเลง เป็นส่วนจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยโบราณและหนังสือหายาก

จากศิลปินโต๊ะกลมสู่ ‘มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ’

เรือนบรรเลงต้อนรับเราด้วยเสียงระนาดเอกและฆ้องวง เรือนไม้สักหลังงามแทรกตัวสงบท่ามกลางความวุ่นวายบนถนนเศรษฐสิริ กระจกสีบานหนึ่งแหว่งวิ่นด้วยแรงระเบิดครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่เจ้าของเรือนยังพึงใจเก็บไว้ย้ำเตือนความทรงจำ บันไดทางขึ้นและพื้นไม้บนเรือนขัดเงาเสียจนเดินสบาย ป้ายไม้สีแดงบอกชื่อ “เรือนบรรเลง” พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล (Private Museum) และมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่สงบเงียบเรียบง่ายชวนให้ผู้มาเยือนหลงเสน่ห์ราวต้องมนต์ขลัง

ข้าวของเครื่องเรือนและเครื่องดนตรีบนเรือนไม้แห่งนี้ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของเรือนเป็นอย่างดี มีแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณเป็นของสะสมล้ำค่า มีตั้งแต่แผ่นเสียงครั่งแผ่นแรก ๆ ที่เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยจนถึงแผ่นไวนิลสีเลือดนกที่วางโชว์บนไว้ตู้ไม้สูงเกือบสามเมตร คุณเอ้ปรับแต่งใต้ถุนเรือนเก่าเป็นห้องทำงานของมูลนิธิฯ และพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กรูปตัวแอล กองหนังสือวางเรียงรายบนแคร่ไม้ ทั้งหนังสือดนตรี กวี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ บ่งบอกความเป็นคนรอบรู้และรักการอ่านของคุณเอ้ เปียโนหลังเก่าของอาจารย์มาลินี สาคริก วางเคียงข้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงสุดคลาสสิคที่ยังคงใช้งานได้ดี มีตู้โชว์ไม้สูงเท่าเอวที่จัดเรียงแผ่นเสียงสวย ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับโน้ตดนตรีลายมือหลวงประดิษฐไพเราะ และรางระนาดหลวงประดิษฐไพเราะ ที่จัดแสดงไว้อย่างสง่างาม

อัลบั้มเก็บแผ่นเสียงโบราณ ที่มาของคำว่า ‘อัลบั้มเพลง’
อัลบั้มเก็บแผ่นเสียงโบราณ ที่มาของคำว่า ‘อัลบั้มเพลง’

เดิมทีเดียว ‘เรือนบรรเลง’ เป็นเรือนหอของขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) และครูบรรเลง ศิลปะบรรเลง บุตรีคนที่ 2 ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2477 ฝีมือการสร้างของ ‘เกียฮู้’ ช่างฝีมือชาวจีนที่เคยฝากผลงานไว้ที่เรือนของหลวงประดิษฐไพเราะย่านบ้านบาตร เรือนหลังนี้ผ่านการปรับปรุงซ่อมแซมราว 4 ครั้ง ผ่านไฟไหม้เล็กน้อยและแรงสะเทือนของระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะเป็นเรือนไม้สักหลังงามดังที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากจะเปิดเรือนให้เยี่ยมชมเป็นครั้งคราว เรือนบรรเลงยังเป็นที่พำนักของศิลปินชื่อดังทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่เคยแวะเวียนมาล้อมวงคุยตรงโต๊ะกลมอยู่เนือง ๆ แม้ในอดีตจะเคยร่มรื่นด้วยไม้ผลและผักสวนครัวพื้นบ้าน ครัวไฟเคยสร้างคร่อมคลองเล็ก ๆ ท้ายสวน มีคลองน้อยหน้าบ้านกับรั้วที่ไม่เคยปิดต้อนรับผู้มาเยือน ปัจจุบันเป็นร้านอาหารครัวบรรเลงที่เนืองแน่นด้วยลูกค้า ทว่าความสงบเย็นและเสียงดนตรีไทยยังเป็นสิ่งที่ผู้มาเยือนสัมผัสได้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับโต๊ะกลมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ

 นักเรียนใช้เวลาวันหยุดในการซ้อมดนตรีไทยร่วมกันอย่างสนุกสนาน

นักเรียนใช้เวลาวันหยุดในการซ้อมดนตรีไทยร่วมกันอย่างสนุกสนาน

“โต๊ะกลมใต้เรือนบรรเลงมีมาตั้งแต่แรกสร้างเรือน หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นบนโต๊ะตัวนี้ การประชุมจัดงาน ๑๐๐ ปีเกิดหลวงประดิษฐไพเราะ การริเริ่มประกวดดนตรีไทยเพื่อความมั่นคงฯ การประกวดดนตรีไทยศรทอง การระดมความคิดจัดทำหนังสือที่ระลึก การประชุมสร้างภาพยนตร์ ละครมิวสิคัล ‘โหมโรง’ การให้ปากคำและเรื่องราวมากมายทั้งที่เล่าต่อได้และต้องปกปิดไว้จากปากผู้รู้ ศิลปิน และบุคคลอื่น ๆ มากมาย ที่โต๊ะตัวนี้เป็นสักขีพยาน” อาจารย์มาลินี สาคริก เล่าเรื่องไว้ในหนังสือ “๘๔ ปี มาลินี สาคริก สถาปนิกศิลปบรรเลง และฉลอง ๘๕ ปีเรือนบรรเลง”

นอกจากนี้ อาจารย์เอ้ยังเล่าให้ฟังว่า “ครั้งหนึ่งในงาน ๑๐๐ ปีหลวงประดิษฐไพเราะ สมาชิกในตระกูลสาคริกคิดกันว่าจะจัดตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นที่ ‘บ้านสาคริก’ โดยมีเรือนบรรเลงเป็นที่ทำงานและบ้านพักในเวลาเดียวกัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากคำกล่าวของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ที่ว่า ทำงานทดแทนคุณแผ่นดินและทดแทนคุณบิดา (หลวงประดิษฐไพเราะ) ทำให้เราย้อนกลับมามองตัวเองว่า อะไรที่เราพอจะทดแทนคุณแผ่นดินได้บ้าง ในฐานะที่เราเป็นนักดนตรีจึงขอใช้วิชาชีพในการอนุรักษ์ พัฒนา สืบสาน ต่อยอด และสร้างความรู้สึกภูมิใจในดนตรีไทยให้เกิดขึ้นในใจคนไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน”

เศียรครูเก่าแก่บนตู้หนังสือที่ได้รับการดูแลอย่างดี
เศียรครูเก่าแก่บนตู้หนังสือที่ได้รับการดูแลอย่างดี

ลมหายใจของ ‘ดนตรีไทย’ ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรม

มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ยังสานต่อลมหายใจของดนตรีไทยทั้งในเชิงวิชาการ ประวัติศาสตร์ จนถึงการสร้างคนดนตรีรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดเรือนบรรเลงเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของดนตรีไทยและเปิดสอนดนตรีไทย ควบคู่กับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเยาวชน

“คนเก่งเราเฉย ๆ นะ แต่คนที่รู้จักกาลเทศะสำคัญกว่า ดังนั้นเราจึงเน้นสอนคนเรื่องกิริยามารยาท ความมีน้ำใจ และคุณธรรมในจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตระกูลสาคริกถ่ายทอดคำสอนจากรุ่นสู่รุ่น เพราะเราเชื่อว่าดนตรีเชื่อมโยงกับชีวิตอย่างแยกไม่ออก การที่คนเรามีจิตใจของผู้ให้และมุ่งมั่นทำสิ่งดี ๆ เพื่อทดแทนคุณแผ่นดินเป็นสิ่งสำคัญที่เราพยายามปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนของที่นี่ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบอาสาสมัครของมูลนิธิฯ

นักเรียนดนตรีไทยของเรือนบรรเลง ตั้งใจฝึกซ้อมอย่างมีสมาธิ
นักเรียนดนตรีไทยของเรือนบรรเลง ตั้งใจฝึกซ้อมอย่างมีสมาธิ

“ทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงลมหายใจของดนตรีไทยเท่าไหร่ ทั้งที่ดนตรีไทยเต็มไปด้วยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ จะเห็นได้จากในหนัง ‘โหมโรง’ (อาจารย์เอ้เป็นคนต้นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะผู้กำกับฯ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือของเขา) ดนตรีไทยไม่ใช่ของสูงแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมาตั้งแต่โบราณ หน้าที่ของเราทุกวันนี้จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนดนตรีไทยให้สื่อสารกับคนทั่วโลก เพื่อสะท้อนรากเหง้าของความเป็นไทยที่ไม่ใช่แค่เปลือกนอก”

ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อาจารย์เอ้พยายามผลักดันให้ดนตรีไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมส่งออกที่สร้างชื่อเสียงให้เมืองไทย ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ควบคู่การพัฒนาเพื่อเข้าถึงคนยุคใหม่ได้มากขึ้น รวมถึง ‘โครงการเพื่อนดนตรี’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนพ้องน้องพี่และภาคเอกชน เพื่อส่งมอบเครื่องดนตรีให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน

แผ่นเสียงหาฟังยากที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีโดยอาจารย์เอ้
แผ่นเสียงหาฟังยากที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีโดยอาจารย์เอ้
หนังสือการดนตรีและการฟัง ประพันธ์โดยพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)
หนังสือการดนตรีและการฟัง ประพันธ์โดยพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)

“อยู่ดี ๆ เราไม่ได้เอาเครื่องดนตรีไปให้เขาเลย แต่เราใช้วิธีสำรวจและทำความรู้จักกับโรงเรียนก่อน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ไม่เพียงแค่มอบเครื่องดนตรีแต่เราเข้าไปสอนน้อง ๆ เรื่องดนตรี และเชื่อมโยงโครงการเพื่อนดนตรีเข้ากับชุมชนและสังคมโดยรอบ เพราะเราไม่ใช่แค่ช่วยเหลืออย่างเดียว เอาของไปให้แล้วก็จบ แต่เราผลักดันให้เขาช่วยเหลือตัวเองและสานต่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ด้วย”

‘เพื่อนดนตรี’ จึงเป็นมากกว่าโครงการพี่ให้น้องเหมือนกิจกรรมอื่น ๆ หากแต่เป็นการส่งมอบความฝันและสานต่อจินตนาการให้เด็ก ๆ เชื่อมโยงดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งยังสะท้อนความเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง หลอมรวมวิถีชีวิตที่ผูกพันกับบ้าน วัด โรงเรียน หรือ ‘บวร’ เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างอบอุ่น

“ผมพยายามทำตัวเป็นโซ่ข้อกล้างที่เชื่อมโยงคน สิ่งของ และงานด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน” คุณเอ้ยิ้มกว้าง ก่อนจะทอดสายตามองไปที่กองหนังสือเบื้องหน้า เขาพูดถึงเหตุผลที่ทำให้มองตัวเองเป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ คงเพราะเขามีความสามารถในการ ‘ค้นหา’ สิ่งของที่มีคุณค่า รวมถึงความสามารถในการเชื่อมโยงผู้คนที่มีประกายฝันและอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งอาจเป็นพรสวรรค์ที่น้อยคนจะมีสายตาที่มองเห็นได้ลึกซึ้งเช่นเขา

ใบหน้าเปี่ยมสุดและรอยยิ้มไร้เดียงสาของเด็กหญิงตัวน้อยบนเรือนบรรเลง
ใบหน้าเปี่ยมสุดและรอยยิ้มไร้เดียงสาของเด็กหญิงตัวน้อยบนเรือนบรรเลง

ทุกวันนี้ คุณเอ้ยังมีความสุขและใช้ชีวิตสงบเงียบเรียบง่ายภายในรั้วรอบของเรือนบรรเลง มีเสียงบรรเลงดนตรีไทยสอดประสานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขายังคงมีความสุขกับการค้นหาแผ่นเสียงเก่า เครื่องดนตรีโบราณ ตำรา เอกสารเก่ามีคุณค่า และดูแลข้าวของเครื่องเรือนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึงเปิดเรือนจัดงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับความเป็นสายตระกูลหลวงประดิษฐไพเราะ ผู้รักดนตรีไทยและทดแทนคุณแผ่นดินได้อย่างงดงาม

แม้จะผ่านกาลเวลาไปอีกกี่ปี ท่วงทำนองและลมหายใจของดนตรีไทยจะไม่จางหายไปจาก ‘เรือนบรรเลง’ ทรงปั้นหยาแห่งนี้

 

เรือนบรรเลง : เลขที่ 147 ถนนเศรษฐสิริ แขวงสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ด้านหน้าเป็นร้านอาหารเก่าแก่รสมือจัดจ้านอย่าง ‘ครัวบรรเลง’ ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะในวันเสาร์-อาทิตย์ และต้องทำการติดต่อล่วงหน้า หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. (02) 279 1509, (089) 145 1328

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)