Now Reading
ย้อนเวลาตามหากล้องมือสองที่ร้าน ‘หนวดกล้องฟิล์ม’

ย้อนเวลาตามหากล้องมือสองที่ร้าน ‘หนวดกล้องฟิล์ม’

เมื่อผลักประตูกระจกใสเข้าไปในร้าน คุณจะรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกอีกใบ ที่ชายหนุ่มวัย 39 ปี จำลองบรรยากาศเก่าๆ ของร้านกล้องถ่ายรูปยุค ‘80s ไว้ในตึกแถวเก่าริมถนน เจ้าของร้าน ‘หนวดกล้องฟิล์ม’ ไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพรุ่นเก๋า หากแต่เป็นนักสะสมกล้องฟิล์มมืออาชีพที่หลงใหลในกลไกการทำงานของมัน หากคุณมีเวลามากพอที่จะหยุดพัก โซฟาวินเทจสีน้ำเงินหนานุ่มพร้อมให้คุณปลดเปลื้องกระเป๋าสะพายบนบ่า แล้วเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องกล้องกับเจ้าของร้าน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางย้อนกาลเวลา จนแทบจะหลงลืมไปว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่มนุษย์มีกล้องดิจิตอลคุณภาพสูง…อยู่ในมือถือของตัวเอง

หนวดกล้องฟิล์ม

กล่องกระดาษสีขาวและสีทองหม่น วางคู่กันบนตู้กระจกไม้สไตล์วินเทจ กล่องแรกบรรจุกล้อง Nikon S3 2000 Black Paint Limited Edition (ครบเซ็ต) เจ้าของตั้งราคาเน็ตที่ 1 แสนบาท “กล้องรุ่นนี้ผลิตแค่ 2,000 ตัวทั่วโลก จะมีให้เลือก 2 สีคือ  Silver กับ Black ซึ่งสีดำผลิตเพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้น” หนึ่งในนั้น นอนสงบนิ่งอยู่ในกล่องตรงหน้าของเรา ส่วนอีกกล่องบรรจุกล้อง Nikon F5 50th Anniversary Limited Edition เจ้าของตั้งราคา 35,000 บาท เพราะผลิตจำนวนจำกัดเพียง 3,000 ตัวทั่วโลก ทั้งสองเป็นกล้องใหม่ ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน สัญลักษณ์ของใหม่และกระดาษไขด้านในบ่งบอกความสมบูรณ์ของมัน

อุ้ย-ศักดินนท์ จันทร์เทียน เจ้าของร้านเป็นหนุ่มผมยาวปะบ่า หนวดเคราบางๆ รับกับรูปหน้าคมเข้ม พูดจาสนุกสนาน เป็นกันเอง ไม่บอกก็รู้ว่าเขามีหัวใจนักเลงที่จริงใจกับลูกค้า “ผมเริ่มเข้าวงการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นกล้องฟิล์มยังไม่ได้บูมเท่าไหร่ ผมก็เริ่มจากซื้อกล้อง Olympus OM1 มาลองเล่น ปรากฎใช้แล้วโอ.เค. อยากเล่นตัวอื่นบ้าง ผมเลยตัดใจขายกล้องตัวแรกไป แล้วซื้อตัวใหม่มาเล่น จากนั้นก็ขายต่อ ผมเริ่มรู้สึกว่า มันเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริมให้กับเรา วันธรรมดาเราไปทำงานประจำ วันหยุดก็ไปขายกล้อง หรือถ่ายรูปเล่น”

ชีวิตวนเวียนอย่างนั้นไม่กี่ปี อุ้ยก็เริ่มอิ่มตัวกับการเป็น Prop Man ในเอเยนซี่แห่งหนึ่ง จึงตัดสินใจลาออก ก่อนวันสิ้นปี ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา “ถ้าอยู่ต่อเราจะไม่ชอบเพื่อนร่วมงานแล้ว แต่ผมยังอยากไปกินเหล้าเฮฮาเหมือนเก่า เลยตัดสินใจลาออกไปทำงานในร้านล้างฟิล์ม บวกกับช่วงนั้น กระแสกล้องฟิล์มมาแรง ผมก็เริ่มขายกล้องออนไลน์ ช่วงแรกพ่อค้ายังไม่ค่อยเยอะ เวลาลงของไปจะมี คนเข้ามาสนใจเยอะมาก ความที่เราเป็นคนชอบกล้องวินเทจสวยๆ ถึงจะเป็นของมือสองก็ต้องอยู่ในสภาพดี เลยทำให้คนรู้จักร้านของผมแบบปากต่อปาก หลายคนบอก “เฮ้ย! กล้องร้านพี่หนวดแพงนะ แต่คุณภาพดี” นั่นแหละจุดขายของผม”

Kodak Vest Pocket Camera ที่เคยผ่านยุคสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จัดวางในตู้กระจกหน้าร้าน ฉากสงครามและการนองเลือดที่มันเคยบันทึก ปัจจุบันมันไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่นักเล่าเรื่องกลางสมรภูมิอีกต่อไป เช่นเดียวกับกล้องไม้และกล้องอายุกว่า 70-80 ปีหลายตัวภายในร้าน ที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และ Eastman Kodak Brownie ซีรีย์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุค 1900 เรียงรายใกล้กับพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ในมือของพระองค์ท่านมีกล้อง Nikon S2 ผลิตครั้งแรกในปี 1957

“กล้องที่อายุมากที่สุดในร้านอายุเกือบ 100 ปีแล้วครับ อย่าง Kodak Brownie เป็นกล้องที่ผลิตขึ้นมาด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือยุคนั้นการล้างฟิล์มแพงมาก ใครที่ซื้อกล้องรุ่นนี้ไปสามารถส่งฟิล์มไปให้โกดักล้างฟรีเลย บางตัวเป็นกล้องไม้ กล้องที่ทำจากทองแดง และกล้องสมัยสงครามโลก พวกนี้ผมซื้อมาสะสมส่วนตัวด้วยความชอบ ถึงจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่มันมีคุณค่าทางใจ”

พูดจบอุ้ยก็เริ่มพาเราออกเดินทางผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับกล้องวินเทจหลายตัวภายในร้าน Pentax 6×7 Lomography รุ่นเดียวกับที่โอ๊ต (ปราโมทย์ ปาทาน) ใช้ถ่ายรูปในรายการ “วันละม้วน” วางใกล้กับ Yashica Electro 35 รุ่นที่อุ้ยเคลมว่า “เลนส์คม คุณภาพดีเกินราคา อันนี้เหมาะกับมือใหม่หัดเล่นกล้องฟิล์ม” อีกตัว ที่อุ้ยแนะนำคือ Olympus Trip 35 “รุ่นนี้มือใหม่ใช้ง่าย กะระยะสบาย ไม่ต้องใช้แบตฯ” จนถึงกล้องสำหรับ มืออาชีพอย่าง Nikon FM2 รุ่นยอดนิยมตลอดกาล ส่วนกล้อง Toy หน้าตาน่ารักเรียงรายเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ ในตู้โชว์ไม้ตรงทางเข้าของร้าน โซนเดียวกับกล้องโบราณที่ไม่ได้วางขาย แต่อนุญาตให้ชื่นชมเหมือนไปพิพิธภัณฑ์

“ผมนึกถึงสมัยเด็กตอนที่ไปยืนเกาะตู้กระจกร้านกล้อง มันเป็นความสุขและความตื่นเต้นเวลาที่ได้หยิบ จับ สัมผัส กล้องฟิล์ม เราอยากให้คนที่มาซื้อกล้องได้สัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกับเรา เหมือนเด็กยุคใหม่ที่เริ่มหันมาสนใจ กล้องฟิล์ม ส่วนหนึ่งเพราะเขาเกิดไม่ทัน ความที่กล้องฟิล์มเลิกผลิตไปเกือบ 20 ปีแล้ว ทำให้มูลค่าของกล้องสูงขึ้น หายากขึ้น เสน่ห์ของมันก็มากขึ้น ในยุคที่ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด มันช่วยปรับชีวิตของเราให้ช้าลง เหมือนสมัยก่อน ตอนที่เราถ่ายรูปเสร็จแล้วต้องรอวันไปรับรูป แม้จะถ่ายได้แค่ 36 รูป บางครั้งถ่ายไม่เข้าเลยสักรูปก็มี มันจึงเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับวัยรุ่นยุคนี้ และเป็นความคิดถึงสำหรับผู้ใหญ่หลายคน”

น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสุขที่ได้เล่าเรื่องกล้องฟิล์ม ชวนให้เราเคลิบเคลิ้มไปกับอุ้ย เช่นเดียวกับความทรงจำ ข้างหลังภาพถ่ายที่อุ้ยหยิบยกมาพูดเป็นประเด็นปิดท้ายบทสนทนาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มวันนั้น “กล้องดิจิตอลก็ให้ความรู้สึกเหมือนเวลาเราส่งข้อความผ่านไลน์หรือ Inbox พอเปิดอ่านแล้วมันไม่มีความรู้สึก ถึงจะส่งมาว่า “คิดถึงจัง” ใครจะรู้เขาอาจไม่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ก็ได้”

“ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เรายังได้รับจดหมายหรือโปสการ์ดสักใบ มันมีกลิ่นหอมของกระดาษ กลิ่นหมึก ถ้อยคำสั้นๆ ว่า “คิดถึง” แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกมากกว่าแค่ส่งสติ๊กเกอร์ กล้องฟิล์มก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก การเฝ้ารอ และการเดินทาง เหมือนสมัยก่อนที่เราเดินทางโดยไม่ได้พึ่ง Google Map เราก็ต้องอาศัยการถามเส้นทางจากคนแถวนั้น เช่นเดียวกับกล้องฟิล์มที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บันทึกภาพ แต่มันบันทึกความทรงจำที่อยู่ข้างหลังภาพนั้นด้วยครับ”

About ‘หนวดกล้องฟิล์ม’

11/10 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ (จอดรถได้ที่แฟลตตำรวจ ยานนาวาใต้) ร้านเปิดให้บริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-20.00 น. สนใจดูกล้องติดต่อได้ที่ Line ID: aui-108 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง https://www.facebook.com/หนวดกล้องฟิล์ม และอินสตาแกรม filmcamera101 หรือโทร. (089) 128-7796

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)