ตามรอย ‘ผ้าลายอย่าง’ ศิลปะบนผืนผ้าโบราณ ที่ทำให้อินเดียเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่น
ก่อนที่อุตสาหกรรมแฟชั่นของโลกจะเริ่มต้นที่มหานครนิวยอร์ค มิลาน ปารีส ลอนดอน และโตเกียว ย้อนกลับไปราวศตววรษที่ 16-17 มหาอำนาจแห่งโลกแฟชั่นอยู่ที่ประเทศอินเดีย ศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอและแหล่งกำเนิดแฟชั่นชั้นสูง ด้วยอินเดียเป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดและดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยมือที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยเทคนิคชั้นสูง ทั้งยังโดดเด่นด้วยลวดลายและสีสันแพรวพราวราวอัญมณี ทำให้ผ้าอินเดียกลายเป็นสมบัติล้ำค่าในการเดินเรือของพ่อค้าชาวยุโรป แล้วยังเคยเป็นสิ่งของต้องห้ามในฝรั่งเศสมาแล้ว
ในยุค ‘Fast Fashion’ ที่ผู้คนซื้อง่าย-หน่ายเร็ว เพราะเสื้อผ้ามีราคาถูกและผลิตขายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เสน่ห์ของลวดลายบนเนื้อผ้าและการแต่งกายที่สะท้อนวัฒนธรรมเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา หากแต่ไม่ใช่กับคนรุ่นใหม่อย่าง ‘คุณเอก’ ทวีป ฤทธินภากร นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภัณฑารักษ์ดูแลคลังผ้าโบราณแห่งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้เคยคว่ำหวอดในแวดวงเอเยนซี่ระดับท้อปของประเทศ
FYI ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมคลังผ้าโบราณที่คุณเอกสะสมมาหลายสิบปี คุณเอกดัดแปลงห้องฝึกอบรมสีงาช้างบนชั้น 3 เป็นนิทรรศการขนาดย่อมสำหรับเราโดยเฉพาะ ก่อนจะเริ่มต้นบทสนทนาว่า “ผมอยากพูดเรื่องผ้าลายอย่างของชาวยุโรป เพราะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่” เราเห็นดีงามเพราะหลังจากกระแส ‘ออเจ้า’ ฟื้นคืนลมหายใจให้ผ้าลายอย่างในราชสำนักไทยสมัยอยุธยา หากแต่ผ้าลายอย่างของยุโรปและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูจะไม่ค่อยผ่านตาคนไทยเท่าที่ควร ทั้งยังสวยงามชวนให้ต้องมนต์เสน่ห์ตั้งแต่แรกเห็น
“ผมเริ่มสนใจผ้าโบราณตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมลงวิชาเลือกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์และประณีตศิลป์ เลยได้ศึกษาเรื่องผ้าและสิ่งทอโบราณ ระหว่างทำงานผมก็เริ่มสะสมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเคลือบ ถ้วยชาม และผ้าโบราณมาเรื่อย ๆ จนวันที่ผมเป็นฟรีแลนซ์เลยมีเวลาศึกษาเรื่องผ้าอย่างจริงจัง เพราะผ้าแต่ละผืนต่างก็มีเรื่องราวความเป็นมา จนถึงตัวตนของบุคคลที่เคยครอบครอง มันเเป็นเสน่ห์ลึกลับที่น่าค้นหา”
ชาวยุโรปเองก็คงคิดเช่นนั้น ทันทีเห็นความงดงามบนลวดลายและสีสันของผ้าทอมืออินเดียที่วางขายในท้องตลาด François Pyrard de Laval นักเดินเรือชาวฝรั่งเศสในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ถึงกับจดบันทึกไว้ในไดอารี่ส่วนตัวว่า “ทุกคนตั้งแต่แหลมกู๊ดโฮป จนถึงหญิง-ชายชาวจีน ต่างก็สวมใส่ผ้าอินเดียตั้งแต่หัวจรดเท้า ด้วยลวดลายและสีสันที่มีเอกลักษณ์ สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี” กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งยุค East India Company ที่ล่องเรือไปค้นหาเครื่องเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับกลยุทธ์การค้าใหม่ เมื่อพวกเขาล่องเรือไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซียและพบว่า ชาวพื้นเมืองยินดีที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ากับผ้าอินเดียที่มีราคาแพง นับแต่นั้นชาวยุโรปก็ไม่ลืมที่จะนำผ้าอินเดียผืนงามไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียและยุโรปจนเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง
เมื่อความนิยมเพิ่มมากขึ้น พ่อค้าชาวอินเดียจึงได้พัฒนาเทคนิคพิเศษสำหรับส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และยุโรป โดยปรับลวดลายให้เข้ากับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ไม่เว้นแม้แต่ชาวอยุธยาอันเป็นที่มาของ ‘ผ้าลายอย่าง’ คือทำตามตัวอย่างที่แต่ละประเทศส่งมาให้วาดลวดลายด้วยมืออย่างประณีต
จนถึงศตวรรษที่ 17 ผ้าอินเดียจำนวนมากได้วางจำหน่ายในเมืองใหญ่ของยุโรป เช่น อัมสเตอร์ดัม ปารีส และลอนดอน ทำให้ผู้นำของอุตสาหกรรมสิ่งทอท้องถิ่นเริ่มหวาดกลัว พวกเขาจึงเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลสั่งแบนสิ่งทอของอินเดีย ร้อนถึงสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสที่ไม่เพียงสั่งห้ามพ่อค้านำเข้าผ้าทอมือจากอินเดียเท่านั้น แต่ยังสั่งห้ามพ่อค้าท้องถิ่นเลียนแบบผ้าอินเดีย ด้วยเหตุผลว่า ผ้าอินเดียเวอร์ชั่นฝรั่งเศสน่าจะเลียนแบบของจริงได้ไม่ดีพอ และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนมีความต้องการผ้าทอของอินเดียมากขึ้น
“ชาวยุโรปเรียก ‘Chintz’ หมายถึงผ้าฝ้ายเขียนมือที่กลายเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยของชาวยุโรปในเวลารวดเร็ว ขณะที่ชาวอินเดียเรียกว่า ‘Kalumkari’ หมายถึงผ้าเขียนลายด้วยมือแบบ free hand ถ้ามองใกล้ ๆ จะเห็นความละเอียดของลวดลายที่เล็กมาก ๆ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้สูญหายไปตามกาลเวลา จากนั้นชาวยุโรปเริ่มผลิตแม่พิมพ์เลียนแบบลายอินเดียและวางขายในราคาถูก เรียกง่าย ๆ ว่าฝรั่งทำขายแข่งกับอินเดียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และแพร่หลายอย่างมากในศตวรรษที่ 20 ทุกวันนี้เราจะเห็นผ้าเลียนแบบลายโบราณเยอะมาก แม้ปัจจุบันชาวอินเดียยังทำผ้าเขียนลายด้วยมือเช่นเดิม แต่ความละเอียดอ่อนของลวดลายเทียบกับคนโบราณไม่ได้เลย”
‘Kalamkari’ เป็นหนึ่งในเทคนิคการผลิตผ้าโบราณของชาวอินเดียที่มีความซับซ้อนมากที่สุด โดยผ้าฝ้ายจะถูกทำให้แข็งด้วยการนำไปแช่ในน้ำฝาดและนมควาย นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วย้อมสีด้วยเทคนิคเฉพาะของแต่ละตระกูล ส่วนสีย้อมผ้าที่พบมากที่สุดคือ สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และสีเหลือง ที่ได้จากพืชและแร่ธาตุที่มีถิ่นกำเนิดในอนุทวีป จากนั้นใช้ผ้าคลุมด้วยแว็กซ์ที่ทำจากขี้ผึ้งแล้วขูดออกอย่างระมัดระวัง และส่วนที่เป็นสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนจะถูกวาดด้วยมืออย่างประณีต
ผ้าอินเดียผืนต่อไปที่คุณเอกชวนให้เราทำความรู้จักมีชื่อว่า ‘Palampore’ ที่นิยมใช้เป็นผ้าม่านหรือผ้าคลุมเตียงในยุโรป คุณเอกนำมาจัดแสดงอย่างประณีตบนราวแขวนผ้าโบราณ “ผมชอบผืนนี้มากที่สุดครับ เพราะเนื้อผ้ายังมีความสมบูรณ์ของลวดลายและสีสันจากธรรมชาติแม้จะอายุเก่าแก่กว่า 200 ปีแล้ว มันสะท้อนภูมิปัญญาของชาวอินเดียในการสร้างสีพิเศษ ซึ่งเป็นเทคนิคประจำตระกูล เช่น สารกั้นสี ช่วยกั้นสีที่ไม่ต้องการในระหว่างย้อมผ้าได้อย่างน่าทึ่ง และเทคนิคนี้ได้สูญหายไปแล้วในปัจจุบัน”
ด้วยความงดงามของผ้าอินเดียนี่เอง ทำให้ชาวฝรั่งเศสหลายคนยอมฝ่าฝืนคำสั่งของทางการในระหว่างปี 1686-1759 โดยนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง Felicia Gottmann จาก University of Dundee กล่าวว่า “ผ้าอินเดียนับหมื่นชิ้นถูกลักลอบนำเข้ามาในฝรั่งเศส โดยเฉพาะผู้หญิงในสังคมชั้นสูงที่ยอมเสี่ยงกับค่าปรับมหาศาล ด้วยการดัดแปลงเป็นชุดนอน ผ้าคลุมเฟอร์นิเจอร์ ถึงขนาดที่บางคนกล้าสวมใส่ออกจากบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นภาพผู้หญิงถูกลากออกจากรถม้าหรือแม้แต่บ้านของตัวเอง เพื่อลงโทษประจานฐานครอบครองสิ่งของต้องห้าม จนชาวฝรั่งเศสที่หลงใหลในแฟชั่นถึงกับบอกว่า ช่วงศตวรรษที่ 18 รัฐบาลได้ก่ออาชญากรรมทางแฟชั่นอย่างแท้จริง”
ผ้าลายอย่างหรือ ‘Kalamkari’ ของชาวยุโรป มักจะมีลวดลายที่บอกเล่าความงามของธรรมชาติ ดอกไม้ และลวดลายแบบโอเรียลทัลความนิยมของชาวยุโรปในยุคนั้น “จะเห็นว่าผ้าผืนนี้มีลวดลายดอกไม้ของยุโรป เช่น ทิวลิป คาร์เนชั่น ไอริส แฝงไว้ด้วยปล้องไม้ไผ่ที่สะท้อนให้เห็นว่า ฝรั่งเห่อความเป็นโอเรียนทัลมาตั้งแต่ปลายศตวรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19” ใกล้กันเป็นผ้าลายอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มีลวดลายอ่อนช้อย สวยงาม และผ้าลายอย่างจากศรีลังกาที่มีลวดลายบางอย่างคล้ายคลึงกับผ้าลายอย่างของไทย อาทิ ‘กรวยเชิง’ ลายประจำยามประยุกต์ แต่ด้วยการใช้สีแดงเป็นหลัก ผสมกับสีน้ำเงิน ขาว และสีดำ ทำให้บ่งบอกความแตกต่างระหว่างผ้าลายอย่างของทั้งสองวัฒนธรรมได้อย่างดี
“นักวิชาการวิเคราะห์กันว่า คนไทยส่งตัวอย่างไปให้แขกวาด แม้จะมีคำสั่งห้ามเลียนแบบเพราะเป็นลวดลายเฉพาะของเรา แต่ก็เป็นไปได้ว่าแขกน่าจะนำลวดลายไปประยุกต์ในการผลิตผ้าให้ประเทศอื่น ๆ เพราะฝรั่งมองว่า คนไทยโบราณรสนิยมดีมาก ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่คนไทยสั่งผลิตในต่างประเทศ อย่างเบญจรงค์ที่สั่งชาวจีนทำ ผ้าลายอย่างที่สั่งอินเดียทำ จะเป็นลวดลายที่ซับซ้อนที่สุดและสวยงามที่สุด ในแง่ของการสร้างลายและการใช้สีที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและความประณีตบรรจง เพราะคนไทยสมัยก่อนให้ความพิถีพิถันกับงาน custom made มาก ๆ ถึงขนาดส่งคนไปคุมการผลิตในต่างประเทศ เพื่อให้ต้องตรงกับรสนิยมของคนไทยมากที่สุด”
แม้ปัจจุบันความนิยมในผ้าอินเดียจะเสื่อมสลายลงตามกาลเวลา เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตผ้ายุคใหม่เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้ความนิยมใน Fast Fashion ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก หากแต่เสน่ห์ของผ้าทอที่สร้างคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวให้กับผู้สวมใส่ รวมถึงเป็นของล้ำค่าสำหรับนักสะสมและคนนิยมผ้าโบราณไม่เสื่อมคลาย
“ผมเชื่อว่าการสะสมอะไรสักอย่างจะสร้างนิสัยในการศึกษาหาความรู้ต่อสิ่งนั้นอย่างจริงจัง และต่อเนื่องไปถึงของสะสมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกัน หากคุณชอบผ้าโบราณผมจะบอกว่า การเก็บรักษาไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพราะผ้าฝ้ายมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ความคงทนต่อสภาพอากาศ จะร้อนหรือหนาวก็ไม่มีปัญหากับเส้นใย สำคัญสุดต้องพับดี ๆ อย่าให้โดนแมลง แสงแดด และความชื้นก็เพียงพอแล้วครับ เหมือนอย่างที่ผมนำมาจัดแสดงให้ดูเลยต้องปิดผ้าม่านไว้ เพื่อป้องกันแสงแดดทำให้สีของผ้าซีดลง พอเสร็จแล้วผมก็นำไปเก็บไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสมตามเดิม”
ไม่เพียงผ้าลายอย่างโบราณที่คุณเอกนำมาจัดแสดงให้ชมเป็นกรณีพิเศษ ภายในห้องยังอบอุ่นด้วยข้าวของเครื่องเรือนโบราณ ทั้งเฟอร์นิเจอร์จีนเก่าแก่ แม่ธรณีศิลปะพม่า หญิงร่างทรงแกะสลักจากไม้ของชาวพม่า จนถึงชฎาสีทองลวดลายประณีตบรรจง ที่ได้รับการตกแต่งให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับผืนผ้าโบราณอย่างไม่ขัดเขิน จนเรารู้สึกเพลิดเพลินเหมือนเดินอยู่ในแกลเลอรี่เล็ก ๆ
เรากล่าวคำอำลาคุณเอกด้วยหัวใจที่พองโต และจินตนาการถึงชนชั้นสูงทั้งในยุโรปและเอเชียอาคเนย์ในยุครุ่งเรืองของผ้าอินเดียโบราณ โดยเฉพาะชาวสยามที่ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวตะวันตกถึงรสนิยมอันดี และความประณีตในทุกรายละเอียด จนถึงยุคสมัยที่เราวิ่งไล่ตามค่านิยมของโลกตะวันตก จนหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมและความละเมียดละไมที่ยังคงแฝงอยู่ในสายเลือดของคนไทยจวบจนปัจจุบัน
- รวมไอเดียแฟชั่นชุดกี่เพ้า ตรุษจีนปีนี้คุณต้องเก๋จัดกว่าใคร - January 20, 2020
- พัทยาพาฟิน! ขับรถไปเช็คอินเก๋ๆ ที่ร้าน ‘ไทยมาเช่’ กันดีกว่า - December 5, 2019
- นิทรรศการ Living Cemetery นิทรรศการเดี่ยวของปราง เวชชาชีวะ - August 30, 2019
สมัชชา เกิดมาในยุคภาพถ่ายขาวดำและกล้องฟิล์มผ่านการร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพจาก.
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมงานถ่ายภาพกับเอเจนซี่ชื่อดังก่อนจะไปใช้ชีวิตที่ลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
สมัชชา เป็นช่างภาพมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างความมหัศจรรย์และมนต์เสน่ห์ให้แก่ภาพถ่ายทุกภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านการจัดวางองค์ประกอบ การให้แสง ตลอดจนการทำ Post Production เขามีปรัชญาการทำงานว่า “สร้างความแปลกใหม่ให้กับงานธรรมดาๆ แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง”
สมัชชา ยังคงถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตอันแสนจะวุ่นวายกับภรรยาและแมวอีก 40 ตัว