ศิลปิน, นักสะสม, อาร์ตเลิฟเวอร์ & เทศกาลศิลปะ เช็คชีพจรศิลปะไทยในแรงเหวี่ยงของการเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเหวี่ยงรุนแรงหรือรวดเร็วแค่ไหน แต่วันนี้ … ศิลปะยังคงสำคัญเสมอ!
ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและกิจกรรมของมนุษย์มาเนิ่นนาน นานจนบางครั้งบทบาทและความสำคัญที่มีต่อสังคมและโลกของศิลปะนั้นถูกมองข้าม หลายคนจะรู้สึกว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน บ้างอาจจะตั้งคำถามว่า ศิลปะยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับโลกสมัยใหม่?
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศิลปะยังคงมีความสำคัญและเรายังคงต้องการศิลปะในทุกชุมชน ทุกประเทศ และทุกวัฒนธรรม ในทุกจังหวะแรงเหวี่ยงของโลก ศิลปะยังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน
และหน้าที่ของศิลปะอีกอย่างหนึ่ง ด้านหนึ่งคือ การสร้างและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ โดยที่มีศิลปิน แกลเลอรี่ ตัวแทนจำหน่าย นักสะสม เป็นปัจจัย
ขณะที่โลกหมุนไป วงการศิลปะก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ รวมถึงความนิยมสะสมงานศิลปะมีความเคลื่อนไหวตลอด ด้วย “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ
เสริมคุณ คุณาวงศ์ นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะว่า “เรื่องของวัฒนธรรมทุก ๆ อย่างจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา เพลงศิลปะการแสดง ศิลปะ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เติบโตได้ ขึ้นลงได้ แล้วกาลเวลาก็จะพรากอะไรบางอย่างไป เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของคุณค่าศิลปะ แต่ผมพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมูฟเมนต์ของศิลปะ ไม่ได้แปลว่างานรุ่นปัจจุบันดีกว่างานรุ่นเก่าหรืองานรุ่นเก่าดีกว่าปัจจุบัน โดยภาพรวมของตลาดศิลปะทั่วโลก ระดับราคาของศิลปะไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนจะเห็นว่าราคาศิลปะของไทยมีราคาถูกที่สุด”
และสิ่งที่ เสริมคุณ มองว่า วงการศิลปะไทยมีการตื่นตัวเพิ่มมาขึ้น ทั้งด้วยเทคโนโลยีและผู้คนรุ่นใหม่
“เน็กซ์เจน” กับศิลปะในฐานะไลฟ์สไตล์และแบรนด์
วันนี้โครงสร้างรูปแบบของตลาดศิลปะแบบดั้งเดิมกำลังปรับและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ซื้องานศิลปะรายใหม่ซึ่งเรียกกันว่า นักสะสม “เน็กซ์เจน” พวกเขาคือ คนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียอย่างแข็งขันในการซื้อ จัดแสดง และขายคอลเลกชั่นของตน
ความมั่งคั่งของ “เน็กซ์เจน” มาจากทั้งการสืบทอดและสร้างขึ้นเองอันเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออื่น ๆ คอลเลคเตอร์รุ่นเยาว์ส่วนหนึ่งซื้องานศิลปะเพื่อเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน
“การตื่นตัวทางด้านศิลปะปัจจุบัน มีทาร์เก็ตกรุ๊ปอายุน้อยลง คนรุ่นใหม่ที่มีรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ เขามีรสนิยมทางศิลปะในการสะสมมากขึ้น ศิลปะมันไม่ได้วนอยู่ในกลุ่มนักสะสมที่ทำมา 20-30 ปี ซึ่งอาจจะวนอยู่ในศิลปินประมาณ 15 ชื่อในกลุ่มนั้น” เสริมคุณกล่าว
“สังคมที่มีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงเร็วก่อให้เกิดคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเร็ว แล้วกระแสสังคมที่มีลักษณะเฉพาะเลยทำให้เกิดดีมานด์และซัพพลายขึ้นมา เป็นกลุ่มก้อนที่แยกต่างหากจากโลกเดิม ชุดของนักสะสมและชุดของศิลปิน ชุดของงานศิลปะ ชุดที่เขาสะสมกันเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วกับชุดของผู้คนในปีนี้ก็จะมีความต่าง เป็นชุดใหม่ขึ้นมา คนชุดเดิมก็อยู่ หลาย ๆ คนก็เริ่มมองเห็นงานชุดใหม่ก็มาสะสมงานชุดใหม่ด้วย”
ขณะที่นักสะสมงานศิลปะที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการมายาวนานอย่าง ณรงค์ อิงค์ธเนศ ก็พบว่า “ก่อนหน้านี้ซีเรียสคอลเลคเตอร์เป็นแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี ที่ได้เงินจากการลงทุน
คริปโต หุ้น หรือออนไลน์หันมาสนใจศิลปะในแง่ของการลงทุน ในวงการค่อนข้างน่าตื่นเต้น มีการประมูล มีเทศกาล งานแฟร์ขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวเคลื่อนไหวที่ดีมาก ทำให้ความสนใจศิลปะในบ้านเรามากขึ้น”
ในหมู่นักสะสมรุ่นใหม่ ภาพวาดและประติมากรรมยังคงเป็นประเภทงานศิลปะที่นิยม แม้ว่าความสนใจในศิลปะดิจิทัลซึ่งรวมถึงศิลปะ NFT จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีการเปิดรับผลงานของศิลปินหน้าใหม่ในคอลเลกชั่นของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากงานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตส่วนตัวของนักสะสม
“คนรุ่นใหม่ ๆ ที่มาสะสมงานศิลปะในช่วง 3 ปีนี้ บางส่วนก็จะมองโอลด์มาสเตอร์คือ ศิลปินที่อาจจะมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไปและครึ่งค่อนก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมองศิลปินที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีลงมา” เสริมคุณ อธิบายเพิ่มเติมว่า “โดยเฉพาะวิธีการทำงานศิลปะในกลุ่มสตรีทอาร์ตซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากงานกราฟิกที่เป็นเอกลักษณ์หรืออาจจะเป็นงานคอมิกส์
มาก่อน เป็นงานที่ได้รับความนิยมหรือการเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นกระแสโลก เช่นงานของศิลปินญี่ปุ่นบางคนซึ่งทำงานร่วมกับแบรนด์ชื่อดังหลากหลาย ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ไม่ได้เป็นแค่รูปที่แขวนอยู่บนผนัง ซึ่งมันเป็นเทรนด์ของโลก”
สำหรับนักสะสมเน็กซ์เจน ศิลปะคือ ไลฟ์สไตล์และเป็นส่วนเสริมรูปแบบการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล (Personal branding) คือ การสร้างแบรนด์บุคคล สร้างภาพลักษณ์ประจำตัวให้เป็นที่รู้จักของคนอื่น ซึ่งอาจนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ นักสะสมรุ่นเยาว์ให้ความสำคัญกับเครือข่ายและความสัมพันธ์ ทั้งกับนักสะสมและศิลปิน การรู้จักศิลปินเป็นการส่วนตัวและเข้าใจมุมมองของพวกเขาทำให้ชอบงานศิลปะมากขึ้น
อารีย์ ตุลยกิจจา นักสะสมศิลปะ วัย 23 ปี เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของคอลเลคชั่นตัวเองว่า“ผมเริ่มสะสมงานศิลปะตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนแรกเริ่มเก็บความรู้ก่อน การที่เราจะซื้องานศิลปะที่ราคาจะขึ้นได้ ต้องมีความรู้เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าเราจะทุ่มไปเท่าไหร่ก็ได้ ผมจะคุยกับนักสะสม ไปขอความรู้กับผู้ใหญ่ที่มีความรู้นำเราไปร้อยเท่าพันเท่า สามารถทำให้ผมมีความคิดที่จะนำผมไปคุยต่อกับศิลปินได้ในชุดความคิดที่ผมได้มาจากนักสะสมไปคุยกับศิลปิน
“นักสะสมรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ที่มีสตางค์และเขาจะกระโดดเข้ามาเก็บงานโดยไม่สนว่างานนี้ศิลปินเป็นยังไงประวัติเป็นมายังไง เขาซื้อไปโดยไม่สนว่างานศิลปะอันนี้มันดียังไง ผมเคยไปดูคอลเลคชั่นของนักสะสมหน้าใหม่จะค่อนข้างสะเปะสะปะ ไม่เหมือนนักสะสมรุ่นเก่า ที่งานเขาจะไปในแนวทางเดียวกัน ผมรู้สึกว่างานที่เขาเก็บเป็นงานที่มีคุณค่ามากและเป็นงานที่แต่ละท่านชอบจริง ๆ เป็นสไตล์ของนักสะสมจริง ๆ
“นักสะสมรุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่นที่เข้ามาเก็บงานเขาจะดูว่างานชิ้นนี้คนส่วนมากชอบหรือเปล่า แล้วราคามันแพงหรือเปล่า ถ้าราคามันแพงแล้วคนส่วนมากชอบก็จะซื้อ ในมุมมองของเขาคือ เท่ แต่ว่าเขาอาจจะไม่ชอบจริง ๆ ก็ได้ ผมมองว่ามันไม่ใช่ประเด็นของการสะสมงานศิลปะที่เอาความคิดของคนอื่นเป็นที่ตั้ง งานศิลปะที่ผมเลือกสะสม อย่างแรกเลยผมจะเลือกที่ชอบก่อน อันนี้คือ เป้าหมายหลักในการสะสมงานศิลปะ ไม่ใช่เพื่อจะซื้อเพื่อเก็งกำไร อย่างที่สองก็คือ ศิลปินคนนั้นจะต้องเป็นคนเอาจริงเอาจัง มีความคิด ทุ่มเทกับศิลปะที่ทำ ผมไม่ได้คิดถึงว่าต้องเป็นงานที่ราคาจะต้องขึ้นด้วย ผมจะไม่สะสมงานศิลปะที่อีก 100 ปีมันจะเป็นแอนทีค แต่ผมจะสะสมงานศิลปะที่อีก 100 ปีมันสามารถเป็นมาสเตอร์พีซได้
“นักสะสมรุ่นใหญ่ที่ผมคุยด้วยทั้งหมดแนะนำให้เริ่มต้นจากเพ้นท์ติ้ง เพราะว่าเป็นสิ่งที่เริ่มต้นง่ายที่สุด ผมชอบงานชิ้นเล็ก ๆ มันจะสามารถดึงผู้ชมเข้าไปจ้องใกล้ ๆ ได้ เราจะหลุดเข้าไปในห้วงเวลาของรูปเล็ก ๆ ส่วนรูปใหญ่จะผลักเราให้กระเด็นออกมาดูในมุมกว้าง สำหรับผมรูปเล็ก ๆ มันดึงดูดมาก”
เน็กซ์เจนอย่าง อารีย์ มีความฝันระยะยาว “ผมอยากเป็นผู้อุปถัมภ์วงการศิลปะไทยให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้ การค้ำชูวงการศิลปะให้ทัดเทียมกับโลกของยุโรปหรืออเมริกาได้ ซึ่งมันเป็นความท้าทายมาก เพราะว่าเขาล้ำหน้าเราไปไกลมากแล้ว”
สำหรับ วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ นักสะสมและเจ้าของแกลเลอรี่ เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อว่า การสะสมงานศิลปะนอกจากจะเป็นการเก็บงานศิลปะที่ชื่นชอบแล้ว ในอีกด้านหนึ่งคือ การสนับสนุนให้กำลังใจศิลปิน
“เหตุผลหลักในการเลือกคือเลือกที่เราชอบ เวลาเห็นเรารู้สึกสบายใจว่าของนี้อยู่กับเรา ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเก็งกำไรและขาย ผมก็เลยเลือกจากความชอบ สามารถหาที่ติดได้แล้วเหมาะกับมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน บางชิ้นเลือกจากเรื่องราวที่โดนใจ ในสิ่งที่ศิลปินเขาสื่อ”
บางชิ้นไม่สามารถเอาไปติดตั้งได้ ซื้อมาแล้วอาจจะเก็บไว้ในหีบห่อ “แต่เรารู้ว่า เราได้ช่วยสนับสนุนศิลปินที่เราชอบให้กำลังใจให้เขาทำงานต่อไป มันจำเป็น ถ้ามีคนช่วยสนับสนุนงานของเขาก็สามารถที่จะอยู่ได้ เขาทำงานต่อไป เพราะว่าถ้าเขาไม่ขายไม่ได้เลย ก็จะต้องไปทำอาชีพอื่น ถ้าอยากเราอยากให้เขาทำงาน ผมก็เลยเลือกที่จะสนับสนุน” วัจนสินธุ์เล่า
ขณะที่นักสะสมผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานอย่าง เสริมคุณ แนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่เพิ่มเติมว่า “การนำศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี สุนทรียภาพทางการมองเห็นทำให้เรามีความสงบสบาย สุนทรียภาพของภาพเขียนหรือศิลปะใด ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เป็นส่วนที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเรา
“ส่วนเรื่องการลงทุนให้มองหาศิลปะที่เหมาะกับเรา ที่ตามมาคือ มองเรื่องมูลค่าเพิ่ม อาจจะเริ่มต้นสะสมงานศิลปะจากผลงานของยังอาร์ทิสต์ก่อนก็ได้ อย่าเพิ่งรีบซื้อมาก ค่อย ๆ ไป จะทำให้สนุก แล้วก็ไม่เจ็บตัว ถ้าเกิดพลาดพลั้ง ในช่วงแรก ความรู้นี่ต้องมีแน่ ๆ ต้องหาแหล่งความรู้ อ่านหนังสือ เยี่ยมชมนิทรรศการที่หลากหลาย แล้วก็เรียนรู้ว่าผลงานของใครเป็นยังไง ชอบหรือไม่ชอบ ดูไปเรื่อย ๆ สักพักอาจเริ่มต้นจากซื้อชิ้นเล็ก ๆ บ้าง แล้วจะค่อย ๆ รู้ใจตัวเอง เหมือนถ้าคนเห็นของน้อยก็จะไม่รู้ว่าของไหนสวยหรือไม่สวย แต่ถ้าเห็นของมากชิ้นก็ย่อมจะเลือกได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นให้เวลาหน่อย และไม่ใช่เวลาที่ทำให้คุณทุกข์ร้อนเลย มันสนุก”
ศิลปะสื่อสารและสะท้อนยุคสมัย
หนึ่งในหน้าที่อันหลากหลายของศิลปะคือการเป็นสื่อกลางที่ยอดเยี่ยมในการแบ่งปันข้อมูลและแสดงความคิดเห็น งานศิลปะมีช่องทางที่ช่วยให้เราสามารถแบ่งปันวิสัยทัศน์และความคิดอย่างที่การสื่อสารวิธีการอื่นทำไม่ได้ ในทางสังคมแล้วศิลปะเล่าเรื่อง เก็บบันทึกทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ และการสื่อสารเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะของผู้คนในยุคนี้ก็แตกต่างไป
แม้จะผ่านเข้ามาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ศิลปะก็ยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เช่นในวันนี้มีกราฟฟิตี้บนท้องถนน ของเล่นที่ศิลปินเป็นผู้ออกแบบและผลิตที่เรียกว่า อาร์ตทอย รวมไปถึงเกมส์บนอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
“ปัจจุบันสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น” เสริมคุณ ให้ความเห็น “อย่างเช่นผลงานของศิลปินแบงก์ซี่ซึ่งเป็นงานศิลปะที่มีมูลค่าสูง ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้มีศิลปินสตรีทอาร์ตของไทยมีศักยภาพสูงและได้การยอมรับมากขึ้น เมื่อเข้ามาสู่ยุคโซเชียลมีเดียทำให้โลกไร้พรมแดนขึ้นไปอีก การสื่อสารโดยตรงจากบุคคลหนึ่งไปสู่คนอื่น ๆ ทำให้โลกใกล้กันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะก็เกิดขึ้น”
ณรงค์ เองก็ประทับใจกับงานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย “ผมอยู่ในธุรกิจไอทีจะเห็นอะไรใหม่ ๆ ค่อนข้างชอบงานของเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดการมองทั้งหลายต่างกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเลยเริ่มเก็บงานคอนเทมโพรารี่ของเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงงานจากศิลปินกราฟฟิตี้ 7-8 ปีที่แล้วเก็บงานของ อเล็กซ์ เฟซ เก็บมาเรื่อย ๆ สมัยนั้นไม่แพงเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าแพงพอสมควร ตอนนี้เขาเป็นศิลปินระดับอินเตอร์ไปแล้ว ผมไปแกลเลอรี่ที่มีผู้บริหารหรือคิวเรเตอร์รุ่นใหม่ ๆ เข้าไปดู ซื้องานใหม่ ๆ อาจจะไม่เหมือนงานที่เราเคยเก็บมา ผมตื่นเต้นที่เห็นสื่อ สไตล์ เทคนิค ธีมต่าง ๆ ที่เขาใช้ อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เรามาสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มมีโอกาสได้แสดงงาน ได้ขายงาน เพื่อที่จะให้เขาได้มีทุนในการผลิตงาน”
ในสังคมสมัยใหม่ ศิลปะถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยี เกิดเป็นศิลปะดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถชื่นชม แสดงภาพ และแบ่งปันความงามของการสร้างสรรค์กับผู้อื่นได้ โดยต้องขอบคุณการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต วันนี้ศิลปินสามารถสร้างชื่อเสียงและรับค่าจ้างผ่านเทคโนโลยีได้ ผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถจำนวนมากถูกค้นพบออนไลน์
หนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตาคือ มิสเตอร์ครีม (Mr Kreme) หรือ แอนดี้ ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์งานอาร์ตทอยจนโด่งดังไปจนต่างประเทศ“การสร้างตัวเองของศิลปินยุคใหม่มีช่องทางเยอะ แล้วประเภทศิลปะก็มีหลายแบบ อย่างเช่น คอมมูนิเคชั่น ดีไซน์ (การออกแบบการสื่อสาร) จะเป็นงานเชิงศิลปะอยู่ในเกมหรือสินค้าต่าง ๆ
“อินเตอร์เน็ตสามารถทำให้คนเชื่อมต่อได้มากขึ้น ศิลปินกับลูกค้าไม่จำเป็นต้องรู้จักแบบปากต่อปาก แค่อัพโหลดงานขึ้นไปออนไลน์ คนที่สนใจงานเราที่เขาติดตามเราเขาก็สามารถเห็นงานได้แล้ว เขาอาจจะไม่ได้ซื้องานเรา แต่ว่าเขาก็สามารถที่จะแชร์งานของเราไปได้
“โลกมันเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ศิลปินสามารถจะโชว์ความเป็นตัวเองได้ผ่านงานศิลปะ เพียงแค่โพสต์ลงไปในโซเชียลมีเดียก็รู้ว่าตอนนี้เขาทำอะไรอยู่และสามารถซื้องานได้ ผมมองว่า มันจะทำให้ลูกค้ารู้สึกใกล้ชิดกับศิลปินมากกว่าแต่ก่อน”
ไม่เพียงมีผลงานอาร์ตทอย มิสเตอร์ครีมยังปล่อยให้ “คาแรคเตอร์” ที่เขาสร้างสรรค์มีชีวิตบนผืนผ้าใบด้วยอีกทางหนึ่งด้วย “ตอนเด็ก ๆ ผมชอบพวกการ์ตูนยุค 80 ผมคงจะดึงสิ่งที่ผมเห็นตอนเด็ก ๆ เอามาเพนท์ คาแรคเตอร์ที่ผมวาดจะเป็นสัตว์ประหลาดที่มีขนทุกตัว เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเบสิคของคำว่า มอนสเตอร์ (Monster)
“งานผมน่าจะอยู่ในประเภทป็อปเซอร์เรียล (Pop Surreal) อิงจากความจริง แต่ว่าก็มีแฟนตาซีผสม เป็นงาน โลว์บราว (Lowbrow) เวลาคนเห็นงานแล้วทำคิ้วขมวดต่ำ ๆ สรุปไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกยังไง ผมชอบที่จะทำให้งานมีหลาย ๆ ความรู้สึก ไม่ได้น่ารักหรือน่ากลัวไปเลย การที่มีหลาย ๆความรู้สึกมันมีเสน่ห์ เด็กมองว่าน่ารัก ผู้ใหญ่มองจะเห็นรายละเอียดบางอย่างทำให้เขารู้สึกได้หลายอารมณ์มากขึ้น ผมสนใจงานประเภทไซคีเดลิก เป็นศิลปะที่คนทำจะเห็นวิชวลสีสันต่าง ๆ นานา ผมก็จะเอาสีสันพวกนี้มาใส่ในงาน มันก็จะมีความเด่นเป็นจุด ๆ” แอนดี้เล่า
พลังจักรวาลดิจิทัลที่ต้องจับตา
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกศิลปะหนีไม่พ้นการมาถึงของศิลปะ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ในจักรวาลดิจิทัลคริปโตเคอร์เรนซีมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง อาจเป็นงานที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นเจ้าของได้ โดยอยู่ในรูปไฟล์ดิจิทัลได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ วิดีโอ ภาพ เพลง บทความ ไอเท็มในเกม ฯลฯ
ความแรงของ NFT ทำให้ บัญชา วงษ์โชติวัฒน์ คิวเรเตอร์มืออาชีพได้เปิดประสบการณ์ครั้งแรกในการจัดนิทรรศการศิลปะดิจิทัล “NFT ในเมืองไทยได้รับการสนับสนุนมากอยู่ เริ่มเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ค่อนข้างเป็นกระแส คิดว่าไม่น่าจะตกลงมา ไม่คิดว่าจะเป็นแค่กระแสวูบวาบแล้วหายไป เป็นเรื่องของอนาคตโลกยุคใหม่ สะท้อนเรื่องของเทคโนโลยี สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีที่กำลังมา”
ระหว่างศิลปะรูปแบบดั้งเดิมที่จับต้องได้กับศิลปะยุคใหม่ในโลกดิจิทัล บัญชาเห็นว่ามีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินที่ทั้งสองอย่างไม่ว่าจะทำงานแบบไหนก็เป็นเรื่องของเทคนิค รูปแบบ และความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งต้องมีด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าแสดงออกมาต่างรูปแบบ ต่างแพลตฟอร์มกัน ขึ้นอยู่กับผู้เสพว่าชอบแบบไหน ไม่มีอันไหนที่ถูกผิด”
ในทางหนึ่ง NFT ทำให้ศิลปินมีช่องทางในการนำเสนอผลงานมากขึ้น “ศิลปินที่ทำงานจับต้องได้หันมาทำ NFT มากขึ้น ยังไงเขาก็ใช้เทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือใช้กันอยู่แล้ว ยังไงก็หนีไม่พ้น มันใกล้ชิดกับตัวเองมาก NFT มาก็สะท้อนเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เขาแค่คลิกเปลี่ยนแพลตฟอร์มผลงานที่สร้างสรรค์อยู่แล้ว อาจจะมีการปรับแต่งผลงานให้เหมาะสมกับการลง NFT เท่านั้น ส่วนแก่นก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ยังอยู่ ไม่ได้ทำให้ศิลปินเสียความเป็นตัวเองไป เขายังคงรักษาความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองได้อยู่
“ผมรู้สึกสนุกตื่นเต้น NFT ตอบโจทย์ศิลปินที่ทำงานดิจิทัลอยู่ จะได้มีวิธีในการแสดงออกและได้รับการยอมรับ สามารถขายงาน เลี้ยงตัวเอง นำมาเป็นเงินทุนในการทำงานต่อไป”
งานศิลปะ NFT เป็นความสนใจของนักสะสมรุ่นใหม่อย่าง วัจนสินธุ์ เช่นกัน “ผมเป็นคนเจนเอ็กซ์ที่เติบโตมากับอุตสาหกรรมเกม ผมสะสมของที่เกี่ยวกับเกมมาหลายอย่าง เมื่อเวลาผ่านไป เกมพวกนั้นปิดตัวลง สินทรัพย์ที่เก็บในรูปดิจิทัล
พวกนี้ก็หายไปเลย ผมมารู้จัก NFT เมื่อปีที่แล้ว คนที่เคยสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลมาแล้วอย่างผมก็เลยมาเก็บงาน NFT ได้เลย เพราะเรารู้ว่าต่อให้ระบบมันล้มหายไป แต่ของพวกนี้มันยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ผมให้มูลค่ากับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วก็เลยหันมาเก็บตรงนี้ ตอนนี้น่าจะมีประมาณ 30 ชิ้นได้ แต่ผมเก็บเฉพาะงานของคนไทย อยากสนับสนุนให้เขาได้ทำงาน อย่างน้อยให้เขารู้ว่ายังมีคนตามงานเขาอยู่นะ ให้เขาทำงานต่อไปได้
“ผมสะสม NFT อย่างหนึ่งเพราะหาที่เก็บงานศิลปะไม่ได้ คนสะสมภาพหลาย ๆ คนบางทีไม่มีที่วางแล้ว ต้องห่อ ต้องคอยดูแล ผมมีที่จำกัดเลยขอย้ายไปเก็บเป็น NFT หรือภาพถ่ายมันก็เหมาะสมดี ผมสามารถดูออนไลน์ได้เลยและข้อดีก็คือ ไม่
พัง การซื้องาน NFT ก็ต้องศึกษา ที่ต้องระวังมากก็คือเรื่องความปลอดภัย จะต้องเช็คก่อนว่างานชิ้นนี้เป็นของศิลปินคนนั้นจริงไหม ไม่อย่างนั้นเราก็เสียเงินฟรี แล้วศิลปินคนทำงานจริง ๆ ก็ไม่ได้เงิน”
และสำหรับนักสะสม NFTเหมือนกับสินทรัพย์เก็งกำไรอื่น ๆ ที่สามารถซื้อและหวังว่ามูลค่าของจะสูงขึ้นในวันหนึ่ง สามารถขายเพื่อผลกำไรได้
“ผมเชื่อมั่นว่า NFT จะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่จะต่อยอดวงการศิลปะไปในอีกสายหนึ่ง เรียกว่าเป็นทางเลือก เป็นพัฒนาการ” เสริมคุณ กล่าว
เทศกาลเชื่อมองค์ประกอบโลกศิลปะ
เทศกาลเชื่อมองค์ประกอบโลกศิลปะ
ในทุกวันนี้ ทุก ๆ คนสามารถชื่นชมงานศิลปะได้ด้วยการท่องอินเทอร์เน็ต ไปพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ทัวร์ เยี่ยมชมสตูดิโอ เข้าร่วมการพบปะสังสรรค์ทางศิลปะ ชมรมนักสะสม และทั้งหมดที่ว่ามานั้น สามารถอยู่รวมกันได้ในเทศกาลศิลปะ ที่ซึ่งทุกคนในวงการไม่ว่าจะศิลปิน ตัวแทน แกลเลอรี่ ที่ปรึกษาศิลปะ นักสะสม ภัณฑารักษ์ รวมไปถึงอาร์ตเลิฟเวอร์ทั้งหลายมารวมตัวกัน
และในเร็ว ๆ นี้ กรุงเทพฯ กำลังจะมีเทศกาลศิลปะที่ใหญ่ระดับภูมิภาคเกิดขึ้น นั่นก็คือ Mango Art Festival 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคม 2565 ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โดยมาในธีม “A Vision for A Better Tomorrow”
เทศกาลศิลปะนี้คือการสร้างพื้นที่ซึ่งนำองค์ประกอบที่รวมกันเป็นสังคมศิลปะเมืองไทยมาบรรจบกัน “Mango Art Festival สะท้อนชีพจรหรือเสียงหัวใจเต้นของศิลปะวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ในแวดวงศิลปะไทย แต่เป็นแวดวงอาเซียน อาร์ตเฟสติวัลมีความหลากหลาย มีอะไรสนุก ๆ เยอะ มีการแสดง แฟชั่น ดื่มกิน และศิลปะ ทำให้ได้พบกับผู้คนแปลก ๆ ศิลปิน ได้สนทนา ได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ผมคิดว่ามันเป็นงานที่สนุก เราอยากจะให้มันเป็นงานระดับภูมิภาคในอนาคต” เสริมคุณ คุณาวงศ์ กล่าวในฐานะประธานบริษัท Mango Art Festival
บัญชาซึ่งดูแลในส่วนของนิทรรศการพิเศษของ Mango Art Festival 2022 บอกว่า “นิทรรศการพิเศษน่าสนใจมากตรงที่มีความหลากหลาย สะท้อนโลกศิลปะปัจจุบัน ศิลปะร่วมสมัย โดยจะแบ่งเป็นหลายส่วน มีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ความล้ำสมัยของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นห้อง NFT แล้วห้องซาวน์ดอาร์ต
“นอกจากนี้ยังมีห้องของนักสะสมซึ่งจะนำงานมาแสดง มีการเทรดด้วยเพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับวงการศิลปะไทย ไม่ใช่การซื้องานศิลปะ แต่เหมือนกับสมบัติผลัดกันชม ให้มีการหมุนเวียน สร้างอีโค่ซิสเต็มของวงการศิลปะขึ้นมาให้มีการเปลี่ยนมือ ราคาก็จะค่อย ๆ ปรับขึ้นไปทำให้เหมือนวงการศิลปะระดับโลกมีการหมุนเวียน อีกนิทรรศการหนึ่งจะมีงานระดับชั้นครูรวมถึงศิลปินแนวสตรีทสมัยใหม่มาแสดง ศิลปินหลายคนตั้งตาคอยงานนี้ เขาทำงานใหม่มาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ มีความหลากหลายและมีความคุณภาพที่เราคัดมา”
คนรักงานศิลปะสามารถเข้าร่วม Mango Art Festival เพื่อแสดงให้ศิลปินเห็นว่าคุณชื่นชมและสนับสนุนพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการผลิตงานมากขึ้น อาร์ตเลิฟเวอร์จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับศิลปะ ทั้ง
ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ลองสัมผัสศิลปะรูปแบบใหม่ ได้พบปะกับศิลปินและทำความเข้าใจความคิดเบื้องหลังงานแต่ละชิ้น
หากคุณเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่กำลังสงสัยเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของตัวเอง เทศกาลศิลปะสามารถสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ผลักดันให้เติบโต โดยมีศิลปินรุ่นพี่ที่สามารถให้คำปรึกษาคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ
สำหรับนักสะสม คุณสามารถติดตามผลงานล่าสุดของศิลปิน ที่แกลเลอรี่และตัวแทนจำหน่ายนำมาจัดแสดง รวมไปถึงอัพเดตเทรนด์ศิลปะในเทศกาลศิลปะได้
ในเทศกาลศิลปะ Mango Art Festival 2022 ไม่ว่าจะเป็นนักสะสมหรือศิลปินเน็กซ์เจนผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของวงการ หรือโอลด์มาสเตอร์ผู้มาก่อนซึ่งเปี่ยมด้วยประสบการณ์อันทรงคุณค่าจะมาร่วมกัน และความหลากหลายจะรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างน่าสนใจ
Mango Art Festival 2022 แบ่งกิจกรรมออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่ Gallery, Design, Independent Artist, Performance • Talk • Private Collection, Sound Art • Interactive Art และ Craft Accessories Food & Beverage พร้อมจัดแสดงผลงานศิลปะกว่า 1,000 ชิ้น ระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคม 2565 ณ River City Bangkok >>https://www.facebook.com/MangoArtFestival/
For more information, please visit
Website : www.mangoartfestival.com
Facebook : Mango Art Festival
Instagram : mangoartfestival
Twitter : MangoArtFest
Line Official : @mangoartfestival
Email : mangoartfestivalthailand@gmail.com
Telephone : 098-846-0969
กดติดตามเราได้ที่
website : www.fyibangkok.com
facebook :
instagram :
twitter :
youtube :
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com
โทรศัพท์ 096 449 9516