Now Reading
เล่าเรื่องเมืองนครฯ ผ่านนิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช”

เล่าเรื่องเมืองนครฯ ผ่านนิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช”

ชมเทริดชั้นครู ลูกปัดโนรา หนังตะลุง และกรงนกงาช้าง ณ บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์

เรือนปั้นหยายกพื้นหลังคาสูงอายุกว่า 121 ปี (สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445) ของท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ได้รับการดัดแปลงเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช” บอกเล่าเรื่องราวชาวเมืองนครฯ ผ่านผลงานหัตถศิลป์จากคีตศิลป์และศิลปะการแสดงอันมีเสน่ห์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนใต้มาช้านาน โดยมี รองศาสตราจารย์ น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการนิทรรศการฯ พูดถึงแรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า

ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช

“นิทรรศการร้องรำทำเพลง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช โดยที่ผ่านมาเราได้นำเสนอศิลปกรรมพื้นบ้านทั่วทุกภาคของเมืองไทย ทั้งภาคเหนือ (ลำปาง) อีสาน (ขอนแก่น) กลาง (เพชรบุรี) ส่วนภาคใต้เราเลือกนครศรีธรรมราช เพราะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นค่อนข้างเยอะ ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ แล้วยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยมาเยี่ยมเยือน”

หลังลงพื้นที่ออกสำรวจเมืองนครอยู่หลายวัน คณะทำงานของอาจารย์น้ำฝนได้สะดุดตาเข้ากับบ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครมากว่า 800 ปี อาจารย์น้ำฝนจึงขออนุญาตเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดแสดงนิทรรศการฯ ด้วยเพราะเรือนไม้ทรงปั้นหยามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเพิ่มมนต์ขลังให้กับงานหัตถศิลป์พื้นบ้านได้อย่างลงตัว  

“ภายในบ้านยังเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ของท่านขุนไว้อย่างดี เราจึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการจัดแสดงนิทรรศการ เพราะเครื่องเรือนบางชิ้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แล้วยังไม่สามารถเจาะ ตอก ติด หรือทาสีได้เหมือนการจัดแสดงงานในหอศิลป์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรือน โดยเราได้แบ่งโซนนิทรรศการออกเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ห้องหนังตะลุง ห้องโนรา และห้องกรงนก

“นอกจากบ้านจะมีความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ผลงานหัตถศิลป์ที่เราคัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการ ยังถือเป็นของล้ำค่า หาชมยาก และนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะ เพื่อสะท้อนความสนุกสนานและอารมณ์ขันของชาวใต้ที่มีท่วงทำนองในหัวใจ เรายังได้รับเสียงชื่นชมจากทีมผู้เชี่ยวชาญของ Victoria and Albert Museum ประเทศอังกฤษ ที่เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์และเข้าชมนิทรรศการในครั้งนี้”

หนังตะลุง โลกทัศน์ของชาวใต้ผ่านแสงและเงา

เมื่อก้าวขึ้นสู่บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับ “หนังตะลุง” หนึ่งในมหรสพการแสดงเงาของไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบทพูดและบทกลอนขับกล่าวในการแสดง ที่สร้างความครื้นเครงและสนุกสนามให้กับผู้ที่ได้รับชม ตัวหนังตะลุงแต่ละตัวถูกรังสรรค์ขึ้นผ่านฝีมือของครูช่าง โดยแนวคิดการออกแบบตัวหนังตะลุงมักจะมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญของชาวใต้และประเทศ ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นการบันทึกและสะท้อนสภาพสังคม ค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ในแต่ละช่วงเวลาไว้อย่างสนุกสนาน

“เราเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ากับคอนเซ็ปต์ของงานในชื่อ “ร้อง รำ ทำ เพลง” เพื่อสื่อถึงความสนุกสนานและอารมณ์ขันของคนใต้ โดยเราจะมีตัวตะลุงขนาดใหญ่คอยต้อนรับบริเวณทางเข้าห้องหนังตะลุง ซึ่งเป็นห้องแรกของนิทรรศการ รวมถึงเวทีจัดแสดงตัวหนังตะลุงทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ที่ส่วนหนึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์จากบ้านหนังตะลุงสุชาติ (ทรัพย์สิน) เรายังนำซองเก็บตัวตะลุงที่มีความสวยงามและหลายคนไม่มีโอกาสได้เห็นมาจัดแสดง เพื่อให้เรื่องราวในห้องนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น” 

“มโนราห์” จากมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปักษ์ใต้สู่มรดกโลก

ถัดจากห้องหนังตะลุงเป็น “ห้องโนรา” จัดแสดงมหรสพการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของชาวใต้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ภายในห้องจัดแสดงนี้จะเป็นการนำเสนอมุมมองของโนราในด้านงานช่างหัตถศิลป์ ได้แก่ เครื่องแต่งกายโนรา ที่มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยจากชุดแบบโบราณสู่การออกแบบร่วมสมัย ในการนำหัวนะโมมาออกแบบผ่านลูกปัดบนเครื่องแต่งกายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพัฒน์ นาคเสน และเครื่องประดับของชุดโนราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีพัฒนาการของเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“ด้วยความที่เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ บวกกับห้องกลางมีตู้ขนาดใหญ่ เราจึงดัดแปลงเป็นห้องแต่งตัวเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวก่อนเข้าสู่ “ห้องโนรา” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงที่ 2 ของนิทรรศการ อย่างการนำชุดมาสวมใส่ในหุ่น ส่วนชุดที่สวมใส่ด้านในของชุดมราห์จะจัดไว้ในตู้กระจก และมี “เทริด” ชั้นครูเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีทำจากหนังวัวมาจัดแสดงด้วย”

 “เทริด” เป็นเครื่องสวมใส่บนศีรษะนายโรงใหญ่ หรือโนราใหญ่ (ตัวยืนเครื่องในการแสดงโนรา) ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญและมีคุณค่าทั้งด้านความเชื่อและจิตใจของลูกหลานชาวโนรา ได้รับความอนุเคราะห์จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพัฒน์ นาคเสน ที่มอบเทริดชั้นครูของโนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (โนรา) มาจัดแสดงในครั้งนี้

คีตศิลป์จากปักษาสู่งานหัตถศิลป์แห่งนครฯ

ห้องสุดท้ายของนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของ “คีตศิลป์จากธรรมชาติ” หรือบทเพลงจากนกกรงหัวจุกตัวน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวใต้ เสมือนจุดเริ่มต้นสำคัญของการรังสรรค์งานช่างหัตถศิลป์กรงนกขึ้นมา เพื่อให้นกอันเปรียบได้กับสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวได้อาศัย และขับกล่อมให้เสียงอันไพเราะฟังในทุกวัน

“ส่วนตัวเราเป็นคนสะสมกรงนกอยู่แล้ว เลยนำเรื่องราวของกรงนกภาคใต้ที่เป็นงานหัตถศิลป์ที่มีเอลักษณ์เข้ามาเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ เดิมทีเราตั้งใจจะแขวนกรงนกกว่าสิบอันที่นำมาจัดนิทรรศการ แต่ด้วยน้ำหนักก็อาจส่งผลกระทบต่อตัวเรือนได้ และมูลค่าของกรงที่บางกรงสูงถึงล้านบาท เราเลยนำมาเรียงรายเพื่ออวดความสวยงาม และมีการจัดแสดงตัวนกที่สะท้อนความเป็นศิลปะ”

ภายในห้องมีการจัดแสดงกรงนกที่มีลักษณะลวดลายและเทคนิคที่แตกต่างกันไป กรงแต่ละกรงยังสะท้อนถึงความประณีตและความงามของฝีมือครูช่างที่ได้สร้างสรรค์กรงนกเหล่านี้ขึ้นมาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองนครฯ และภาคใต้ เช่น กรงนกโบราณทรงโบกี้รถไฟ กรงนกฝังมุกไฟลวดลายดอกไม้ กรงนกแกะงาช้าง เป็นต้น

สัมผัสสุนทรียะและร่วมกิจกรรมผ่านงานช่างศิลป์ปักษ์ใต้แบบฉบับเมืองนครฯภายในงานนิทรรศการ

นิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช”  นอกจากการเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านงานช่างหัตถศิลป์จากวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราชในมุมมองที่แตกต่าง ภายในงานยังมีการถอดสุนทรียะของงานหัตถศิลป์โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ และจัดพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน ในด้านการต่อยอดงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นอันควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ผ่านกิจกรรมลูกปัดโนราซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องลูกปัดบนเครื่องต่างกายชุดโนรา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้สัมผัสมรดกทางภูมิปัญญาของงานช่างหัตถศิลป์เมืองนครศรีธรรมราชและปักษ์ใต้ไปด้วยกัน

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช” ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2566 บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ถนนราชดำเนิน จังหวัดนครศรีธรรมราช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล โทร. 062-979-8298

กดติดตามเราได้ที่

website       :        www.fyibangkok.com

facebook     :        

instagram    :        

twitter         :

youtube       :

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516