Vision of Silpa Bhirasri Immersive Art นิทรรศการที่จะชวนคุณมองศิลปะผ่านสายตาอาจารย์ศิลป์
ทันทีที่เปิดม่านสีดำเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ภายในพิพิธภัณสถานแห่งชาติ หอศิลป ท่วงทำนองที่ก้องกังวานในห้องโถงสีขาวสะอาดตาก็เล่นสนุกกับโสตประสาททั้ง 5 และประสบการณ์ในการรับชมของเรา จะว่าคุ้นเคยกับท่วงทำนองก็คงไม่ผิดนัก ด้วยเพลงนี้เกิดจากการผสมผสานตัวโน้ตของ ‘Santa Lucia’ เพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ากับตัวโน้ตที่เราคุ้นเคยตั้งแต่จำความของเพลง ‘สวัสดีประเทศไทย’ ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สอดประสานกับผลงานศิลปะและประติมากรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ฉาบฉายลงบนผืนผ้าเยื่อไผ่โปร่งแสง
“จริงๆ แล้วเราได้ยินเพลง ‘สวัสดีประเทศไทย’ กันทุกวัน มันคือตัวโน้ตคุ้นหูก่อนเริ่มเพลงชาติ ผมจึงหยิบตัวโน้ตบางตัวมาทำให้จังหวะช้าลงและเล่นซ้ำไปซ้ำมา ผสมผสานกับโน้ตบางตัวของเพลง ‘Santa Lucia’ เกิดเป็นท่วงทำนองใหม่ เหตุผลที่ผมเลือกสองเพลงนี้มาเชื่อมเข้าด้วยกัน เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อตั้งในปี พ.ศ. 2486 ภายใต้แนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่อยากให้ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยศิลปะดีๆ รวมถึง ‘สวัสดีประเทศไทย’ ก็เป็นเพลงที่ต้องการสื่อให้คนไทยขยันขันแข็งและคล่องแคล่วว่องไว”
ศุภชัย อารีรุ่งเรือง หรือ ‘อาจารย์โจ’ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงแรงบันดาลใจในการผสมผสานท่วงทำนองประกอบนิทรรศการ Vision of Silpa Bhirasri Immersive Art: มองผ่านสายตาอาจารย์ศิลป์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ ‘คอร์ราโด เฟโรชิ’ (Corrado Feroci) ที่เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ในการชมงานศิลปะชั้นครู ผ่านการฉายภาพผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์และลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ด้วยเครื่องฉายคุณภาพสูง (projecting mapping) ลงบนผืนผ้าโปร่งแสงในแบบ Immersive Art
“ผมเลือกใช้ผ้าเยื่อไผ่เพราะอยากให้ผู้ชมมองเห็นแสงจากโปรเจคเตอร์ผ่านเลเยอร์ของผ้า ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการชมนิทรรศการอื่นๆ แม้แต่ Immersive Art ทั่วไปที่มักจะฉายภาพลงบนกำแพง แต่เป็นการสร้างมิติและมุมมองใหม่ด้วยการฉายภาพลงบนผืนผ้า ทันทีที่เปิดม่านเข้ามาผู้ชมจะมองเห็นเสมือนประติมากรรมชิ้นใหญ่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมค่อยๆ ปรับความรู้สึกและเคลื่อนไหวร่างกายไปตามมุมต่างๆ ได้อย่างอิสระ เหมือนการปล่อยความคิดและอารมณ์ให้คล้อยตามภาพและเสียงที่สื่อสารกับเราในมุมที่เปลี่ยนไป”
อาจารย์โจคัดเลือกผลงานศิลปะบางชิ้นของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นำมาจัดแสดงในรูปแบบของ Immersive Art อันเป็นสุนทรียศิลปแห่งนวสมัยและโครงการวิจัย เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยและใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขายังแบ่งผลงานออกเป็น 3 องก์ ได้แก่ องก์ 1 มุมมอง มิติ ลายเส้น I องก์ 2 บุคคล I องก์ 3 วัฒนธรรมไทย เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ ‘บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย’ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศ
“ผมอยากให้ผู้ชมได้สัมผัสกับผลงานของอาจารย์ศิลป์ในมุมมองที่แตกต่าง โดยเริ่มจากการฉายภาพนิ่งๆ เหมือนเข้าชมงานนิทรรศการ จากนั้นจะค่อยๆ ซูมภาพเข้าไปในชิ้นงานเพื่อให้เห็นรายละเอียดต่างๆ อย่างลึกซึ้งเพราะผมอยากให้คนที่ชมนิทรรศการนี้แล้วอยากไปชมผลงานต้นแบบอีกห้องหนึ่งของหอศิลป”
นอกจากจะได้ชื่นชมผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ในมุมมองที่แตกต่าง ผ่านท่วงทำนองแปร่งหูในตอนแรก ทว่าเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกายไปตามพื้นที่ต่างๆ ปล่อยให้จินตนาการลื่นไหลไปตามประสบการณ์ที่ได้รับในแต่ละองศาฯ เราจะรู้สึกรื่นรมย์กับการชมนิทรรศการศิลปะรูปแบบใหม่ ที่อนุญาตให้เราเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระไปตามพื้นที่ว่างตรงหน้า โดยไม่ต้องกังวลว่าจะชนเข้ากับงานศิลปะของจริงจนชำรุดเสียหาย อีกทั้งอาจารย์โจยังได้คัดเลือกถ้อยคำของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่บันทึกไว้ในสูจิบัตรงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งทื่ 1-12 มาสอดแทรกกับผลงานศิลปะในแต่ละองก์ได้อย่างกลมกลืน
“จริงๆ แล้วอาจารย์มีบันทึกข้อความที่มากกว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” หรือ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ผมจึงดึงบางประโยคในสูจิบัตรศิลปกรรมแห่งชาติ ที่สะท้อนมุมมองและพัฒนาการทางความคิดของท่านมาผสมผสานกับผลงาน ถ้าคุณรู้จักผลงานของอาจารย์ศิลป์และงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยในยุคแรกจะเข้าใจได้ดี แต่ถ้าไม่รู้จักก็ไม่เป็นไรครับ เหมือนเป็นการเรียนรู้ศิลปะสมัยใหม่ผ่านกระบวนการย้อนกลับ ดังนั้น อย่าเพิ่งคาดหวังอะไรก่อนเข้าชมงาน แต่ผมอยากให้คุณสังเกตอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับจากการชมนิทรรศการรูปแบบนี้”
ใครที่อยากสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ของการจัดแสดงผลงานศิลปะของศาสตรจารย์ศิลป์ พีระศรี รวมถึงลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของท่าน สามารถเข้าชมนิทรรศการ Vision of Silpa Bhirasri : Immersive experience ได้ที่อาคารนิทรรศการ 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตั้งแต่วันที่ 6-28 พ.ค. 2566 เวลา 09:00 – 16:00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/TheNationalGalleryThailand/
กดติดตามเราได้ที่
website : www.fyibangkok.com
facebook :
instagram :
twitter :
youtube :
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com
โทรศัพท์ 096 449 9516
- รวมไอเดียแฟชั่นชุดกี่เพ้า ตรุษจีนปีนี้คุณต้องเก๋จัดกว่าใคร - January 20, 2020
- พัทยาพาฟิน! ขับรถไปเช็คอินเก๋ๆ ที่ร้าน ‘ไทยมาเช่’ กันดีกว่า - December 5, 2019
- นิทรรศการ Living Cemetery นิทรรศการเดี่ยวของปราง เวชชาชีวะ - August 30, 2019