รวมคำพยากรณ์ของผู้ทรงอิทธิพลของโลก ในวันที่มนุษย์ถูกคุกคามด้วย Covid-19
แม้เวลาจะผ่านมานานราว 500 ปี แต่ทุกครั้งที่มีวิกฤตการณ์ระดับโลกจะต้องมีใครสักคนหยิบยกคำทำนายของ ‘นอสตราดามุส’ (Michael de Nostradamus) แพทย์และนักพยากรณ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 16 นำมาเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ไว้อย่างน่าประหลาดใจ เช่นเดียวกับการระบาดของ Covid-19 ที่มีคนขุดคุ้ยคำทำนายจาก ‘Les Propheties’ ตำราพยากรณ์เล่มโปรดของนักทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งก็ดูเหมือนนอสตราดามุสจะทำนายไว้อย่างแม่นยำ (อีกแล้ว)
คำทำนายแรกที่มีคนหยิบยกมาเผยแพร่ เป็นบทกวี 4 บรรทัดที่กล่าวว่า “ใกล้กับประตู ภายในดินแดนของเมืองทั้งสอง มีหายนะสองสิ่งซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน ความอดอยากและโรคระบาดจะลุกลาม ฝูงชนจะถูกเคลื่อนย้ายด้วยเหล็กกล้า ยินเสียงร้องไห้และสวดอ้อนวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เพื่อดับทุกข์”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งบทกวีในหนังสือเล่มเดียวกันที่กล่าวว่า “ก้าวที่สองของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ โลกจะร้อนขึ้นแต่ภายในกลับร้อนกว่า ไม่รู้ว่ายามตื่นหรือฝัน ภาพมายานั้นจริงยิ่งกว่าครั้งไหน โรคระบาดกลายเป็นโรคประสาทระเบิดจากขั้วหัวใจ ต้อนมนุษย์นั้นไซร้จนมุม รายล้อมด้วยปัญญาสังเคราะห์ หากอยากอยู่รอดจงร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ปฏิวัติทักษะให้ครอบคลุม ยังพออยู่ได้ในโลกยากไร้ ซึ่งความมั่งคั่งยังกระจุกอยู่เพียงมุมหนึ่งของจักรวาล”
แต่ถึงอย่างนั้น นักวิชาการบางคนก็ออกมาโต้แย้งว่า มักจะมีการเชื่อมโยงคำทำนายของนอสตราดามุส หรือขยายความเกินจริงเสมอ เพื่อให้ผู้คนตื่นตระหนกและหวาดกลัว บางครั้ง “คำทำนาย” ถึงกับหยิกยกมาเชื่อมโยงอยู่บ่อยครั้งจนอาจจะหมดความขลังไปเลย
เปิดคำทำนายของผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการแฟชั่น
วงการที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่นๆ เพราะอยู่ในลิสต์สินค้า ‘ฟุ่มเฟือย’ มาตลอดอย่างวงการแฟชั่น ตอกย้ำด้วยโรคระบาดที่ทำให้เราไม่อาจจะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แสงแดดอุ่นของฤดูร้อนได้อย่างอิสระเช่นเคย เพราะยังไงเราก็แทบจะออกนอกบ้านไม่ได้อยู่แล้ว Lidewij Edelkoort หรือ ‘Li’ หนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลและนักพยากรณ์ชื่อดังแห่งวงการแฟชั่นชาวเนเธอร์แลนด์ ทำนายอนาคตของโลกหลังวิกฤต Covid-19 ไว้อย่างน่าสนใจ
“อันที่จริงเราควรจะขอบคุณไวรัสด้วยซ้ำ เพราะบางทีมันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์อยู่รอด” ลีอธิบายถึงความท้าทายครั้งประวัติศาสตร์ ที่อาจเปรียบเสมือนการกดปุ่ม ‘รีเซ็ต’ โลกใบนี้
“ผลกระทบของการระบาดในครั้งนี้จะซับซ้อนและส่งผลในหลายมิติ มันบีบให้เราหันเข้าสู่ชีวิตแบบ Slow Life และใช้ชีวิตด้วยสติและความพอเพียง เราจะเปลี่ยนมา Work from Home มากขึ้น ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนสนิท เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองและดูแลสุขภาพมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ต้องจำกัดการบริโภค เราจะค้นพบความสุขของการแต่งตัวเรียบง่าย ใส่เสื้อตัวโปรดที่มีในตู้เสื้อผ้า อ่านหนังสือที่หลงลืมไปแล้ว ทำอาหารกินเอง และใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความสุข”
เธอยังบอกด้วยว่า “ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และการปรับตัวจะกลายเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด หากเรารู้เท่าทันคนจะหันเข้าหาภูมิปัญญาดั้งเดิมและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา อุตสาหกรรมเล็กๆ ในครัวเรือนจะเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับ farmers markets และ street events ต่างๆ โลกจะก้าวสู่ยุคสมัยแห่งศิลปะหัตถกรรมและงานคราฟท์จะได้รับการยกย่อง ทำให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
บทวิเคราะห์ของลีทำให้เรานึกถึงการใช้ชีวิตแบบมินิมอล วิถีเกษตรพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่ว่า “จงใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ” เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย ไม่หวั่นไหวไปตามกิเลส และการเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี เช่น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น ศิลปหัตกรรมพื้นบ้าน และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นช่วงเวลาที่มีค่า ที่ไม่มีเงินตราหรือสิ่งของล้ำค่าใดๆ จะมาแลกเปลี่ยนได้เลย
‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีที่พยากรณ์โรคระบาดล่วงหน้าถึง 5 ปี
ครั้งหนึ่งในงาน Munich Security Conference บิล เกตส์ อภิมหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ อ้างอิงคำเตือนของนักระบาดวิทยาถึงเชื้อโรคที่แพร่กระจายทางอากาศอย่างรวดเร็ว และอาจคร่าชีวิตคนมากกว่า 30 ล้านคนในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี โดยสาเหตุอาจมาจากการกลายพันธุ์ อุบัติเหตุ หรือก่อการร้าย
ในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์บนวารสาร New England Journal of Medicine ในเดือนมีนาคมปี 2015 ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาคร่าชีวิตผู้คนกว่า 10,000 รายในกินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย เป็นความล้มเหลวระดับโลกและเครื่องเตือนใจได้อย่างดี เพราะมีโอกาสเป็นไปได้สูงว่า จะเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า แม้ว่าระบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันจะรับมือกับอีโบลาได้อย่างดี แต่อาจจะล้มเหลวในการควบคุมโรคระบาดที่รุนแรงกว่า”
แม้โรคระบาดครั้งนี้จะเกิดเร็วกว่าที่เกตส์วิเคราะห์ไว้ก็ตาม แต่รายละเอียดอื่นๆ ในบทความของเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่นการที่เกตส์บอกว่า “แม้ประเทศกลุ่มองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO จะมีการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกอย่างสงคราม แต่การเตรียมซ้อมรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างจริงจังในสหรัฐเกิดขึ้นล่าสุดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544” เกตส์จึงเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “ระบบแจ้งเตือนและตอบสนองต่อการแพร่ระบาดทั่วโลก” เพื่อเตรียมความพร้อมให้โลกสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติรวมถึงภัยก่อการร้ายทางชีวภาพอีกด้วย
จาก ‘เซเปียนส์’ ‘โฮโมดีอุส’ สู่วิกฤต Covid-19 ของยูวัล โนอาห์
ชื่อเสียงของยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวยิวเจ้าของหนังสือขายดีระดับโลก อาทิ เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ, โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ และ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดระดับโลกครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความอดอยาก สงคราม และโรคระบาด
ยูวัล เขียนบทความลงในนิตยสาร Time เรื่อง ‘In the Battle Against Coronavirus, Humanity Lacks Leadership’ หรือท่ามกลางการต่อสู้กับไวรัสโคโรน่า มนุษยชาติขาดภาวะผู้นำ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างสร้างกำแพง จำกัดการท่องเที่ยว ลดการค้าขายระหว่างประเทศ ความพยายามโดดเดี่ยวจะส่งผลให้เศรษฐกิจพังทลายในระยะยาว ซึ่งทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้ คือการร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่การกีดกัน
ในบทความยูวัลได้หยิบยกประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดครั้งสำคัญของโลก อาทิ กาฬโรคหรือ ‘Black Death’ ไข้หวัดใหญ่สเปน โรคเอดส์ ซาร์ส อีโบลา และมาตรการต่างๆ ที่ทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้น นำมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับใช้กับการต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้
“ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า การป้องกันอย่างแท้จริงมาจากการแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และการร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งโลก เมื่อประเทศหนึ่งถูกโรคระบาดคุกคาม ประเทศนั้นควรเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดอย่างซื่อตรงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องหายนะทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศอื่นๆ สามารถไว้วางใจข้อมูลนั้นได้ และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือมากกว่ากีดกันชาติผู้ประสบภัย ทุกวันนี้จีนสามารถสอนบทเรียนสำคัญให้แก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา แต่เราก็ต้องมีความเชื่อใจและการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ”
บทวิเคราะห์และคำพยากรณ์ของเหล่าผู้มีอิทธิพลของโลก อาจจะย้ำเตือนให้มนุษย์ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของ ‘ธรรมชาติ’ ที่จะปรับสมดุลให้โลกใบนี้อีกครั้ง เมื่อมนุษย์เฝ้าทำลายทรัพยากรและใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง และมนุษย์อาจไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามเสมอไป เมื่อต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสที่เปรียบเสมือน ‘ศัตรู’ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- รวมไอเดียแฟชั่นชุดกี่เพ้า ตรุษจีนปีนี้คุณต้องเก๋จัดกว่าใคร - January 20, 2020
- พัทยาพาฟิน! ขับรถไปเช็คอินเก๋ๆ ที่ร้าน ‘ไทยมาเช่’ กันดีกว่า - December 5, 2019
- นิทรรศการ Living Cemetery นิทรรศการเดี่ยวของปราง เวชชาชีวะ - August 30, 2019