Now Reading
ม.แม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนแนวคิด การปกป้องธรรมชาติด้วยวัฒนธรรม ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG) เขตวัฒนธรรมเมืองเก่าน่านและเชียงแสน

ม.แม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนแนวคิด การปกป้องธรรมชาติด้วยวัฒนธรรม ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG) เขตวัฒนธรรมเมืองเก่าน่านและเชียงแสน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินกิจกรรมการปกป้องธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วยวัฒนธรรม โดยการต่อยอดภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนเมืองเก่าเชียงแสนและน่าน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (EPISG)  

โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยว และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ดำเนินงานภายใต้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2564 ในส่วนบูรณาการการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองเก่า 2 แห่ง ได้แก่ เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย และเมืองเก่าน่าน จ.น่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยจัดระบบความสัมพันธ์เชิงนิเวศระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติในรูปแบบมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามเกณฑ์ Intangible Cultural Heritage (ICH) ของ UNESCO เพื่อพัฒนาการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการปกป้องธรรมชาติ

“กระบวนการทำงานของเรา เริ่มจากทีมนักวิชาการการเข้าไปเก็บข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามแนวทางของยูเนสโก 200 รายการ มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้จะต้องเป็นภูมิปัญญาที่มีความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม

เจ้าของภูมิปัญญากับนักวิจัยทำงานร่วมกัน

โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดสรรให้เหลือ 50 รายการ นำมาประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีนักออกแบบมาร่วมกันเชื่อมโยงแนวคิดว่า จากความลับในมรดกภูมิปัญญาที่รักษาธรรมชาติให้ยั่งยืนนั้น สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ใดเพื่อให้คนมีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติได้บ้าง แล้วคัดเลือกให้เหลือ 20 รายการเพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

โครงการนี้จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของความรู้ไปสู่การปกป้องธรรมชาติอย่างยั่งยืน  เมื่อคนใช้ผลิตภัณฑ์จะสามารถเชื่อมโยงไปได้ว่า ธรรมชาติยังดีอยู่และมีคนกำลังปกป้องธรรมชาติไว้ด้วยภูมิปัญญาของเจ้าของวัฒนธรรม การใช้หรือการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จึงเท่ากับการช่วยรักษา”

เจ้าของวัฒนธรรมมีส่วนร่วมในงานออกแบบ

ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงที่มาและกระบวนการทำงาน

“มรดกภูมิปัญญา เปรียบเสมือนอาวุธลับในการปกป้องธรรมชาติมาอย่างยาวนาน  หน้าที่ของเรา คือ การนำภูมิปัญญาอันประกอบไปด้วย นิทาน ตำนาน วิถีชีวิต ความเชื่อ ของ 2 เมืองเก่า น่าน และ เชียงแสน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ (ประเภทสินค้าและบริการ)ต้นแบบ

นอกจากจะต้องมีดีไซน์ ร่วมสมัยแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงได้ว่า ธรรมชาติยังดีอยู่และมีคนกำลังปกป้องธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยที่ผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ก็เท่ากับว่ามีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติและภูมิปัญญาไปพร้อมกัน”  ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ อธิบาย

ในส่วนของการดำเนินงานนั้น นักวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล จัดอบรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับชุมชนต่างๆ ในเมืองเก่าเชียงแสน และน่าน โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ระหว่างจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้า ได้แก่ ผ้าไหมลวดลายใหม่จากชุมชนบ้านสันธาตุเชียงแสนที่สื่อถึงความงดงามของแม่น้ำกกในแต่ละช่วงเวลา ผ้าพิมพ์ลายใบสักจากวัดป่าสัก วัดสำคัญของเมืองเก่าเชียงแสน  ผ้าทอลายผลึกเกลือ เครื่องสำอางจากไกของดีเมืองน่าน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ด้านบริการ ได้แก่ การแสดงร่วมสมัยสำหรับทั้ง 2 เมืองที่ได้กูรูทางดนตรี อาจารย์ บรูซ แกสตัน ให้เกียรติประพันธ์ดนตรี เป็นต้น

ผ้าปักจากบ้านห้วยกว๊าน

ทั้งนี้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกทั้ง 20 รายการ ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะประกาศให้ทราบ ในลำดับต่อไป หลังจากมีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนผู้สนใจสามารถติดตามชมผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แนวทางการทำงาน และทำความรู้จักกับภูมิปัญญาของในชุมชนเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย  เช่น ชุมชนบ้านสันธาตุแหล่งผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในเชียงราย ชุมชนบ้านห้วยกว๊านกับผ้าปักของชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) เจ้าของตำนานลายผ้าสุนัขมังกร คติความเชื่อของคนน่านที่เชื่อมโยงระหว่าง นาค น้ำ (คน)น่าน รวมไปถึงเรื่องของผลึกเกลือใครจะเชื่อว่าเมื่อนำรูปทรงมาดีไซน์เป็นลายผ้าแล้วจะน่าตื่นเต้นเพียงใด

ผลงานต้นแบบหมวกรูปหัวเรือน่าน

ภาพร่างต้นแบบ “หมวกหัวเรือ’ ผลงานออกแบบเบื้องต้นจากการเชื่อมโยงวัฒนธรรมการแข่งเรือของจังหวัดน่าน ที่มีความผูกพันกับความเชื่อเรื่องพญานาค ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและแม่น้ำน่าน นำมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

แคแรกเตอร์

น้องใบสักรักเชียงแสน กับ พี่แมงหมาเตาเล่าเรื่องเมืองน่าน คาแรกเตอร์ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องเมืองเก่าในโครงการ EPISG ม.แม่ฟ้าหลวง

workshop

เจ้าของผลิตภัณฑ์กับนักออกแบบในโครงการ EPISG ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานออกแบบไปด้วยกัน

ต่างหูเมี่ยน

ต่างหูผ้าปักลายสวยๆของชาติพันธุ์เมี่ยน (เย้า) ตัวอย่างผลงานออกแบบที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างโครงการ EPISG กับชุมชนเมี่ยน (เย้า) ที่เมืองเก่าเชียงแสน ร่วมกันออกแบบของที่ระลึกราคาน่ารัก ที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายกว่า การซื้อผ้าปักทั้งผืนที่มีราคาสูง

ผ้าไหมบ้านสันธาตุ

ผ้าไหมมัดมี่แบบดั้งเดิม และผ้าขาวม้า เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นมาใช้ในชุมชนสันธาตุ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย  ขณะเดียวกันก็เป็นผลผลิตทางทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ดีไซน์จากเชียงแสน

ดีไซน์จากเชียงแสน เครื่องประดับทำมือที่ทำมาจากจากตุง 12 ราศีของชาวล้านนา มีทั้งต่างหู กำไล ลวดลายนักษัตรมงคล ใส่แล้วเสริมสร้างสิริมงคลและสวยเก๋ถูกใจ ส่วนหนึ่งของผลงานออกแบบเบื้องต้นที่นำไปพัฒนาต่อ

ติดตามชมผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แนวทางการทำงาน และทำความรู้จักกับภูมิปัญญาของในชุมชนเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย  ได้ทาง เพจเฟซบุ๊ค ‘เชื่อม รัด มัด ร้อย’  www.facebook.com/EPISG.MFU

กดติดตามเราได้ที่

website       :        www.fyibangkok.com

facebook     :       

instagram    :       

twitter         :       

youtube       :       

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516

กุลยา กาศสกุล