วีเอชเอส กับ Help Me นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก
สีสันและรูปทรงตัวอักษรที่คุ้นตาของ Help Me นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยโดย วีเอชเอส (VHS) นามแฝงของศิลปินชาวอังกฤษ คริส เว็บเบอร์ ที่นำเอาแรงบันดาลใจจากตัวต่อเลโก้มาสร้างสรรค์ เป็นงานศิลปะ ซึ่งมีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานที่ยืมเทคนิคกราฟิตี้อย่างที่คริสเรียกว่า เออร์บัน อินสไปรด์ รวมไปถึงงานที่นำเสนอผ่านมัลติมีเดีย อย่าง AR (Augmented Reality) จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2 ชั้น G พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) ตั้งแต่วันนี้ – 18 ตุลาคม 2563
ด้วยความเชื่อที่ว่า ของเล่นจะเยียวยาทุกสิ่ง กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ “ผมคิดว่าการที่ เราได้รำลึกถึงบรรดาของเล่นต่างๆ ที่ให้ความสุขเราตอนเด็กๆ มันช่วยเยียวยาจิตใจผมได้และอาจจะ เยียวยาคนอื่นๆ ได้เช่นกัน” คริส เว็บเบอร์ บอกเล่า
“ผมเริ่มทำงานในสถานการณ์โรค Covid-19 ระบาดพอดี ตอนนั้นแม่ของผมเพิ่งจะเสียชีวิต ตัวผมเอง จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่อังกฤษก็ไม่ได้ หรือถ้าผมไปแล้วจะได้กลับมาเมืองไทยมั้ย เป็นช่วง เวลาที่ยากลำบาก และทำให้ผมเครียดมาก คิดว่า โอ๊ย ใครสักคนโปรดช่วยผมด้วย ผมคิดว่า จริงๆ แล้ว ในสังคมปัจจุบันคนเราควรจะยื่นมือมาช่วยเหลือกันและกันให้มากขึ้น
“ผมโตขึ้นมากับการต่อเลโก้ และสังคมของคนเล่นสเกตบอร์ดและเซิร์ฟบอร์ด ของเล่นมอบความสุข ให้เราเสมอ ตอนเด็กๆ เราเล่นมันได้แบบไม่เบื่อเลย พอมาถึงตอนนี้เมื่อเรานึกย้อนไปในชีวิตวัยนั้น ก็ยังรู้สึกมีความสุข ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้อย่างไม่มีกำแพงกั้น ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน”
นิทรรศการ Help Me จึงเปรียบดังสนามเด็กเล่น ผสานเข้ากับความหลงใหลในการเล่นสเกตบอร์ด และกระดานโต้คลื่น ซึ่งล้วนเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุข ที่ไม่ว่าจะย้อนเวลากลับไปนึกถึงเมื่อไรก็ช่วย เยียวยา จิตใจได้ทุกครั้ง
“ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ โดยเริ่มจากงานออกแบบเว็บไซต์ ก่อนที่จะเปลี่ยนสาย ไปทำแอนิเมชัน และรายการทีวี รวมทั้งทำงานงานโฆษณา เคยทำงานร่วมกับแบรนด์สินค้าดังๆ แล้วก็ เซเลบริตี้ระดับโลก” คริสบอกว่า วันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจว่าจะขอเบนเข็มมาเป็นศิลปิน อย่างเต็มเวลา
“เมื่อสองสามปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าอิ่มตัวแล้วกับการทำงานแนวคอมเมอร์เชียล อยากทำอะไรที่ ตอบสนองความต้องการของตัวเองบ้าง หลังจากได้คลุกคลีในแวดวงศิลปะของไทยมาสักพักหนึ่ง ผมก็ตัดสินใจว่าจะต้องสร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะสักชุด ผมเลยมาพูดคุยกับโมคา แบ็งค็อก จนกลาย ออกมาเป็น Help Me” คริสย้อนเล่า
Help Me อาศัยเวลาร่วมปี ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะร่วมสมัย ที่บอกเล่ามุมมองที่มีอารมณ์ขัน แบบที่ เรียกว่า ตลกร้าย เสียดสีจิกกัดของ วีเอชเอส ที่มีต่อสังคมในปัจจุบันในหลากหลายแง่มุมผ่านภาพ จิตรกรรม ประติมากรรมและ AR ที่นำเอาคาแรกเตอร์ของเล่นสีสันสดใสมาเป็นตัวชูโรงตามคอนเซ็ปต์ ว่าของเล่นจะเยียวยาจิตใจได้ ทั้งจิตใจของศิลปินเอง ผู้ชมงานศิลปะของเขา และน่าจะเยียวยาสังคม ได้ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น มุมมองเรื่องโรค Covid-19 ที่นำเสนอผ่านภาพจิตรกรรม และประติมากรรมตัวต่อเลโก้ และนำเสนอผ่านเทคนิค AR ที่ฉายออกมาเป็นภาพ 3 มิติ แล้วก็ยังมี จิตรกรรมที่ถ่ายทอดผ่านเทคนิค AR เป็นภาพตัวการ์ตูนเลโก้หน้าตาเหมือนซอมบี้ ที่เป็นแนวเรื่องยอดฮิตในเน็ตฟลิกซ์ขณะนี้ “ทุกคนคิดว่าตัวเองจะตายเพราะซอมบี้ แต่จริงๆ แล้วเป็นโรคระบาดตายก่อน”
ที่กลางห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่ 1 จะเห็นภาพ QR Code ขนาดใหญ่ นั่นคือชิ้นงาน AR ภาพ 3 มิติของสเกตบอร์ดอันแรกของคริส ขณะที่ชิ้นเด่นๆ ยังมีจิตรกรรมที่พูดถึงการประท้วงในฮ่องกง ภาพวาดเกี่ยวกับแวดวงการเงิน อย่างนักธุรกิจวอลล์สตรีท สังคมบิตคอยน์ มุมมองเกี่ยวกับ สงครามผ่านภาพรถถัง หรือภาพวาดตัวเลโก้หน้าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ใส่เสื้อแมคโดนัลด์ ที่บอกเล่า เรื่องราวประวัติศาสตร์โลก
นอกจากนี้ ยังมีอารมณ์ขันกระแซะไปถึงศิลปินชื่อดังที่เป็นเพื่อนร่วมชาติ อย่าง ดาเมียน เฮิร์สต์ เป็นรูปมิกกี้ เมาส์ หนึ่งในภาพเขียนชื่อดังของดาเมียนด้วย
“ผมเห็นใครๆ ก็ชอบวาดมิกกี้ เมาส์ ผมก็เลยอยากจะมีภาพมิกกี้ เมาส์บ้าง ก็เลยวาดล้อเลียนภาพ ของดาเมียน โดยใช้ชิ้นส่วนเลโก้ และตั้งชื่อว่า Damien (The Omen)”สำหรับภาพเลโก้รูปพระเยซู คริสบอกว่า เป็นคาแรกเตอร์ที่เขาชื่นชอบมาก “ตัวผมไม่ได้เคร่งศาสนาเลยแต่ผมคิดว่าถ้าเกิดพระเยซู มีตัวตนจริงๆ เขาต้องเป็นคนที่เจ๋งมากๆ เลย”
ผลงานจิตรกรรมของคริส ตั้งใจให้ออกมาเนี้ยบกริบราวงานโฆษณาที่เคยทำ ส่วนใหญ่เป็นสีอะครีลิก บนผืนผ้าใบ “ผมเคยทำงานศิลปะดิจิทัลมาก่อน เพราะฉะนั้น รูปแบบของมันก็ส่งอิทธิพลมาก พอสมควร นอกจากเทคนิคอะครีลิกบนผืนผ้าใบแล้ว ผมยังผสมผสานการใช้แอร์บรัช สีสเปรย์ โดยขอเรียกว่าเป็น เทคนิคเออร์บัน อินสไปรด์ หรือศิลปะร่วมสมัยที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม สตรีท”
ในห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่ 2 มีจุดดึงดูดความสนใจ เป็นลานสเกตบอร์ดขนาดใหญ่เกือบเต็ม ขนาดห้อง เพ้นต์ด้วยลวดลายเครื่องเล่นวิดีโอเทป อันเป็นที่มาของนามแฝง วีเอชเอส ซึ่งในวันเปิด นิทรรศการ มีทีมนักสเกตบอร์ดมืออาชีพจากทีมพรีดิวซ์ (Preduce) มาเล่นโชว์ ซึ่งคริสบอกว่า เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่การเปิดงานนิทรรศการศิลปะ ที่จะมีการโชว์สเกตบอร์ดด้วย “ผมเคยได้ยินว่า ในแคนาดา เคยมีโชว์แบบนี้ในแกลเลอรี่นะ แต่ก็ไม่ใช่ระดับพิพิธภัณฑ์อยู่ดี”
คิด เบญจรงคกุล ภัณฑารักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย บอกว่า นี่คือนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย แนวสตรีทครั้งที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์ฯ “หลังโควิด เราก็อยากให้มีอะไรสนุกๆ แบบนี้มาจัดแสดง ให้คนได้ดูกัน”
Stack Satoshis
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Help Me จัดแสดงระหว่างวันนี้ – 18 ตุลาคม 2563 ณ ห้องนิทรรศการ หมุนเวียน 1 และ 2 ชั้น G พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
เปิดให้ชมทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
โทร. 02-016-5666 – 7 อีเมล : info@mocabangkok.com
เว็บไซต์ www.mocabangkok.com
Facebook : mocabangkok
Instagram : @mocabangkok
Google Maps: mocabangkok
หรือจะเข้าไปชมผลงานและเบื้องหลังการมำงาน ในอินสตาแกรมของศิลปิน : @gallery.vhs
สมัชชา เกิดมาในยุคภาพถ่ายขาวดำและกล้องฟิล์มผ่านการร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพจาก.
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมงานถ่ายภาพกับเอเจนซี่ชื่อดังก่อนจะไปใช้ชีวิตที่ลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
สมัชชา เป็นช่างภาพมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างความมหัศจรรย์และมนต์เสน่ห์ให้แก่ภาพถ่ายทุกภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านการจัดวางองค์ประกอบ การให้แสง ตลอดจนการทำ Post Production เขามีปรัชญาการทำงานว่า “สร้างความแปลกใหม่ให้กับงานธรรมดาๆ แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง”
สมัชชา ยังคงถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตอันแสนจะวุ่นวายกับภรรยาและแมวอีก 40 ตัว