หยุดกาลเวลา ณ วิมาลา เรสซิเดนซ์
แม้การพักผ่อนในโรงแรมหรือรีสอร์ทดีไซน์เก๋จะเป็นการพักผ่อนยอดนิยมในยุคนี้ ทว่าการได้เช็คอินที่ “วิมาลา เรสซิเดนซ์” ในซอยสุขุมวิท 26 คุณจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การพักผ่อนแบบ “Private Living Museum” ที่มีเสน่ห์อย่าบอกใคร
⠀⠀⠀⠀⠀⠀
วิมาลา ฯ ต้อนรับเราด้วยโต๊ะไม้แบบ Long Table ตกแต่งด้วยชุดจานชามและเชิงเทียนโบราณ กำแพงสี Royal Blue บ่งบอกถึงความสุขุมลุ่มลึก เจ้านายชั้นสูง และเป็นสีเดียวกับห้องนอนของเจ้าของบ้าน นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปในเรสซิเดนซ์ เราจินตนาการถึงภาพอดีตเมื่อครั้งเจ้านายยังทรงพระชนม์ได้อย่างแจ่มชัด ราวกับเกิดขึ้นเมื่อวันวาน ข้าวของเครื่องเรือนที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เครื่องดนตรี เครื่องเรือน เครื่องแก้ว งานศิลปะ ชุดจานชาม ฯลฯ หลายชิ้นเป็นของหาชมยากและเป็นงานระดับออริจินัล ที่เจ้าของบ้านอนุญาตให้เราชื่นชมได้อย่างใกล้ชิด ชนิดไม่มีอะไรกั้นขวาง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ความพิเศษของเรสซิเดนซ์แห่งนี้ คือรอยยิ้มและการต้อนรับอย่างอบอุ่นจริงใจราวกับคุณเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของ “คุณกบ” อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา บวกกับการได้ฟังเรื่องเล่าสนุก ๆ และเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงได้ชวนติดตามของ “คุณอ๊าร์ต” หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย เจ้าของวิมาลา เรสซิเดนซ์ ซึ่งหากคุณโชคดีมีโอกาสและเวลาได้ฟังเรื่องเล่าจากเขาแล้วล่ะก็ คุณแทบจะไม่อยากเช็คเอ๊าต์ออกจากเรสซิเดนซ์เลยก็ว่าได้
⠀⠀⠀⠀⠀
มาร่วมออกเดินทางผ่าน “เรื่องเล่า” ของคุณอ๊าร์ต ที่ทำให้ข้าวของทุกชิ้นภายในบ้านยังคงมนต์ขลังเหนือกาลเวลา ราวกับทุกชิ้นยังมีลมหายใจและโลดแล่นอยู่ภายใน “วิมาลา เรสซิเดนซ์” แห่งนี้
คุณกบเล่าให้ฟังว่า แรกทีเดียวแรงบันดาลใจในการก่อตั้งวิมาลา เรสซิเดนซ์ มาจากการที่เธอได้พบภาพของเจ้านายชั้นสูงตรงโถงทางเดินภายในโรงแรมโอเรียนเต็ล
“ด้วยความที่กบอยากรู้ว่าคนในภาพเป็นใคร แต่อ่านชื่อแล้วไม่ทราบประวัติของพวกท่าน เลยกลับมาถามพี่อ๊าร์ตแล้วเขาก็เล่าให้ฟังอย่างละเอียด กบเลยมองว่า พี่อ๊าร์ตเป็นคนมีความรู้เยอะมาก และหลายเรื่องราวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำไมพี่อ๊าร์ตไม่ทำ museum ล่ะ เราเลยสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล (Private Living Museum) ขนาดเล็กภายในวิมาลา เรสซิเดนซ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวโดยพี่อ๊าร์ต เพราะข้าวของที่บ้านของพี่อ๊าร์ตก็เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ นี่คือจุดเริ่มต้นของวิมาลา เรสซิเดนซ์ อย่างแท้จริงค่ะ”
ทุกอย่างในวิมาลา เรสซิเดนซ์ ล้วนมีความหมายในตัวมันเอง “พี่อ๊าร์ตมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ในข้าวของทุกชิ้นที่นำมาตกแต่ง กบเลยอยากให้มีใครสักคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้านายและประวัติศาสตร์อย่างคนรู้จริง สิ่งพวกนี้ทรงคุณค่ามากในปัจจุบัน”
“ทุกตำหนักจะมีเรื่องเล่าของเขาอยู่แล้ว กบเองก็ฟังบ่อยจนอยากให้คนอื่น ๆ ได้มาฟังเหมือนเราบ้าง แม้เราจะเปิดบ้านต้อนรับแขกที่มาเข้าพักอย่างเป็นกันเอง และพี่อ๊าร์ตเองก็อนุญาตให้ทุกคนชื่นชมได้อย่างใกล้ชิด แต่แปลกมากที่เราไม่เคยมีของหายเลยสักครั้ง ยิ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุขและภูมิใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น”
ถัดจากโถงต้อนรับแขกผู้มาเยือนคือ โซนรับแขกขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า Udhaya’s Lounge “เหตุผลที่เราตั้งชื่อห้องว่า “Udhaya” (อ่านว่า “อุทัย”) มาจากหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย (ท่านปู่ของคุณอ๊าร์ต) เพราะสังเกตมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า คนมักจะพูดถึงแต่ท่านย่าคือ “วิมาลา” (Vimala) ไม่มีใครนึกถึงท่านปู่ เราเลยตัดสินใจว่า ห้องนี้จะตั้งชื่อตามท่านปู่เพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน”
“ท่านปู่เป็นคนเฮฮา สนุกสนาน และชอบเสวยเหล้า ข้าวของเครื่องเรือนในห้องนี้จึงจัดวางให้เหมาะควรกับรสนิยมของท่านปู่ ทั้งเปียโน โซฟา แก้วไวน์ ทีนี้ระหว่างรื้อลังต่าง ๆ ในห้องเก็บของ เราก็พบลังเครื่องแก้วโบราณที่แสดงถึงอารยธรรมการดื่มไวน์ของคนสมัยก่อน มีทั้งแก้วไวน์ขาวและไวน์แดงที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ฟุ้งเฟ้อของคนยุคนั้น จะเห็นได้ว่าแก้วไวน์แตกต่างจากปัจจุบันมาก ซึ่งแก้วจะมีขนาดเล็ก เพราะแก้วใหญ่เปลืองไวน์”
“ตู้ไม้โบราณขนาดใหญ่นี้เรียกว่า “โรงรับจำนำเคลื่อนที่” (Kiosk) ของอังกฤษ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุควิคตอเรียน จะเห็นว่ามีช่องเล็ก ๆ ให้คนยื่นสิ่งของเข้ามาจำนำได้ ตู้นี้เราได้มาจากประเทศอินเดีย ด้วยความที่เราชอบสไตล์แบบอังกฤษและราคาถูกกว่าท้องตลาดครึ่งหนึ่ง บวกกับมีช่องกระจกสีแตกไปหนึ่งบาน พอขนส่งกลับมาเมืองไทยร้านของเก่าที่เราคุ้นเคยก็สามารถหากระจกสีมาทดแทนกันได้พอดิบพอดี เลยกลายเป็นเครื่องตกแต่งห้อง “Udhaya’s lounge” ที่โดดเด่นและเข้ากับเครื่องเรือนอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว”
“หลังจากที่ได้เปียโนตัวนี้มา เราก็ได้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) รัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ขณะประทับ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรูปที่มีความหมายต่อครอบครัวเรามาก”
“เนื่องจากท่านปู่สิ้นชีพิตักษัยตอนท่านย่าอายุได้ 36 ปี ท่านย่าเลยเป็น Single Mom นับแต่นั้นเป็นต้นมา วันหนึ่งสมเด็จย่ารับสั่งให้ท่านย่าเข้าเฝ้า ฯ ท่านย่าก็ขับรถกระบะของท่านปู่ไปที่วังสระปทุม สมเด็จย่าพระราชทานคำสอนมากมาย ในการที่จะเป็น Single Mom ที่ดีแก่ลูก ๆ และพระราชทานหนังสือหนึ่งเล่ม เขียนโดยเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษที่สอนการใช้ชีวิตให้ผู้คน”
“ท่านย่าจึงสอนลูกหลานมาตลอดว่า อย่าลืมพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ส่วนตัวผมหลงรักรัชกาลที่ ๘ และทึ่งในพระอัจฉริยะภาพของรัชกาลที่ ๙ นี่จึงเป็นที่มาของมุมนี้ที่มีความหมายต่อครอบครัวของเราอย่างมาก”
ด้านหน้าของวิมาลา เรสซิเดนซ์ มีสระว่ายน้ำขนาดกลางทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนของอาคารพักอาศัยกับเรสซิเดนซ์ขนาดสองชั้นได้อย่างโปร่งโล่งสบายตา และเป็นมุมโปรดของแขกผู้มาเยือน ที่มักจะใช้เวลายามเช้าและช่วงเย็นไปกับหนังสือเล่มโปรดกับเครื่องดื่มดี ๆ สักแก้ว โถงทางเดินก้อนอิฐเชื่อมต่อตัวอาคารหลังแรก กับเรสซิเดนซ์ขนาด 9 ห้องพักที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง สองข้างทางร่มรื่นด้วยเงาไม้และดอกไม้พื้นเมืองในกระถาง เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และจัดวางเข้ามุมของมันเองได้อย่างเรียบร้อย…สบายตา
“บ้านเราเริ่มต้นจากตำหนักเฉลิมลาภหลังเล็ก ๆ ที่เห็นนี่ล่ะ ช่วงบ้านแตกสาแหรกขาด ท่านปู่-ท่านย่ามาซื้อที่ดินแถบบางกะปิ (ชื่อเรียกสมัยก่อนของสุขุมวิท) ถ้าจำไม่ผิดจะมีพื้นที่ 8 ไร่ ปัจจุบันเหลือ 2 ไร่ครึ่ง ท่านย่าทรงโปรดตำหนักแห่งนี้มากที่สุด เพราะวิธีการสร้างตำหนักที่ท่านให้โจทย์สถาปนิก (หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์) ว่า “ออกแบบอย่างไรก็ได้ ให้ตำหนักใช้พัดลมได้แค่ตัวเดียว” ท่านเลยออกแบบให้มีหน้าต่างหลายบาน ทิศทางลมเข้า-ออกได้เหมาะสม ภายในโปร่งโล่งด้วยห้องรับแขก ห้องเสวย ห้องแพนทรี ห้องบรรทม 1 ห้อง ห้องสรงขนาดเล็ก เล็กจนน่าอัศจรรย์เพราะมีพื้นที่วางตุ่มทองเหลืองอยู่ในนั้น เนื่องจากสมัยก่อนน้ำค่อนข้างขาดแคลน ในบ้านเรือนจึงจำเป็นต้องมีโอ่งไว้คอยเก็บน้ำ แล้วโอ่งทองเหลืองก็เก็บรักษาความเย็นได้ดี และมีเรือนข้าหลวง 3 หลังในรั้วเดียวกัน”
ภายในเรสซิเดนซ์ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยห้องอาหาร แพนทรีเล็ก ๆ และโถงรับแขกกว้าง ที่ออกแบบให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว เผยให้เห็นพื้นที่ใช้สอยที่เปิดโล่งโปร่งสบาย
“จริง ๆ ผมเป็นคนหวงของมากนะ แต่เพื่อนสนิทคนหนึ่ง (คุณอัษฎาวุธ สาคริก หรือ “คุณเอ้” เจ้าของร้านอาหารครัวบรรเลง) สอนผมเรื่องการปล่อยวาง ขณะเดียวกันเราก็เป็นนักอนุรักษ์และนักสะสม เราเลยนำสองอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกัน และเมื่อมองให้ลึกซึ้งถึงแก่นธรรมที่ว่า พอตายไปแล้วของติดตัวสักชิ้นก็เอาไปไม่ได้ เราจึงตัดสินใจเปิดบ้านหลังนี้ให้คนมาเข้าพักและร่วมชื่นชมข้าวของเครื่องเรือนเหล่านี้ไปด้วยกัน ซึ่งมันทำให้เรามีความสุข เพราะในเรื่องราวที่เล่าให้พวกเขาฟังมีข้อคิดที่สอดแทรกอยู่ตลอดเวลา”
“ทุกอย่างในบ้านมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความหมายต่อเราอย่างมาก มีทั้งของเก่าแบบออริจินัล เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน และงาน Original Copy เพราะบางอย่างเราก็ไม่สามารถนำมาตั้งโชว์ได้จริง ๆ อย่างตู้ไม้เก่าทรงวิคตอเรียนจากอินเดียหลังนี้เต็มไปด้วยสิ่งของสำคัญทางประวัติศาสตร์เยอะมาก ตั้งแต่บทสวดมนต์ สมุดภาพของเจ้านาย หนังสือหายาก และสมุดลายพระหัตถ์เสด็จทวด (พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการรถไฟ พระบิดาแห่งการโรงแรมและการท่องเที่ยว) เก็บรักษาไว้ในตู้อินเดียโบราณ”
“พระมาลานี้เป็นของทหารมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๕ วันนั้นผมได้มาจากนักสะสมเช่นกัน เขานำพระมาลาสองใบมาให้ดู แต่ผมเลือกใบนี้เพราะความสมบูรณ์และงดงาม พระมาลานี้มีที่มาจากสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มี “ทหารไล่กา” (ทหารมหาดเล็กไล่กา) จำนวน ๑๒ คน ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมาจิกกินข้าวสุกเวลาทรงบาตรในตอนเช้า รัชกาลที่ ๕ ทรงทอดพระเนตรเสด็จพ่อ (รัชกาลที่ ๔) ทำอย่างนั้น จึงได้แรงบันดาลใจในการจัดตั้งทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ขึ้น ต่อมาได้ฝึกข้าหลวงเดิมสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม ๒๔ คน จึงเรียกทหารมหาดเล็กชุดนี้ว่า “ทหาร ๒ โหล”
ความที่คุณอ๊าร์ตมีความรอบรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เราเลยอยากรู้ว่า คุณอ๊าร์ตศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นจากที่ไหนบ้าง “ส่วนตัวไม่ค่อยชอบพงศาวดารนะ เพราะใครเขียนก็ไม่รู้ แต่เราชอบสมุดบันทึกที่มีรูปภาพ ลายมือ และชื่อคนเขียนระบุไว้ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มจดบันทึกอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในฐานะที่เราเป็นนักสะสมของสำคัญของราชวงศ์ ดังนั้นการเปิดบ้านเพื่อต้อนรับแขกหรือการได้พูดคุยเพื่อแบ่งปันเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กับผู้คน มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ บทสนทนาหรือเรื่องเล่าที่เราแบ่งปันในวันนี้ก็อาจจะไม่เหมือนกับครั้งก่อน ซึ่งผมว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการได้มาเข้าพักที่วิมาลา เรสซิเดนซ์”
ก่อนหน้าที่จะมีวิมาลา เรสซิเดนซ์ คุณอ๊าร์ตและคุณกบ ประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าของที่พักแรมแนวใหม่ในชื่อ “อาทิตย์ธารา” (Arthit-Tara) เรือนไม้ริมคุ้งน้ำในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เปิดให้บริการมากว่า 4 ปี และเป็นสถานที่พักตากอากาศสำหรับคนเมืองที่โหยหาความเงียบสงบ ที่ที่อนุญาตให้คุณปล่อยวางชีวิตที่เร่งร้อนและวุ่นวายไว้ชั่วขณะ ท่ามกลางการออกแบบที่เรียบง่าย สะท้อนความเป็นวิถีไทยแท้แบบไม่ต้องประดิษฐ์ได้อย่างงดงาม ทั้งยังอยู่สบายจนมีแขกประจำจองเข้าพักเต็มตลอดปี
เหตุที่ทั้งสองต่างก็เป็นศิษย์เก่าของโรงแรมชื่อดังระดับโลกในเมืองไทย คุณอ๊าร์ตเริ่มทำงานที่แรกในโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ส่วนคุณกบเคยทำงานที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น
“ผมเริ่มทำงานเร็วเพราะเป็นคนไม่ชอบเรียน ไม่ชอบถูกสอน แต่ผมชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองมากกว่า เลยตัดสินใจไปทำงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลตอนอายุได้ 20 ปี ในยุคนั้นผมได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการให้บริการที่ดี แต่ที่ตัดสินใจลาออกเพราะเราอยากค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำงาน”
“ด้วยความที่เราสองคนต่างก็เคยผ่านการทำงานในโรงแรมชั้นนำ เราเลยนำมาประยุกต์ใช้กับการบริการของพนักงานที่วิมาลา เรสซิเดนซ์ ซึ่งการบริการที่ดีควรแสดงออกผ่านสีหน้า กิริยา และแววตา ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเคารพ นอบน้อม ซื่อสัตย์ เป็นมิตร จริงใจ และรอยยิ้มที่มาจากหัวใจ ซึ่งเป็นเสน่ห์ในแบบของคนไทยที่ไม่มีชาติใดในโลกเหมือนเรา เพราะคำว่า “น้ำใจ” และ “เกรงใจ” ในดิกชันนารีของตะวันตกไม่มีเหมือนคนไทยนะ ฉะนั้น เราควรภูมิใจที่ได้รับการยกย่องถึงความอ่อนน้อมและเป็นมิตรของคนไทย”
ห้องพักที่ Vimala Residences มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ นั่นคือ Superior Suites, Deluxe Suites และ Residential Suites ทว่าการตกแต่งด้วยรูปถ่ายของบรรพบุรุษ บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ บวกกับตู้ไม้โบราณ เก้าอี้ไม้สไตล์วินเทจ โคมไฟ และเครื่องเรือนโบราณ ตัดกับสี Royal Blue ของกำแพงที่ขับให้ข้าวของและเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นดูโดดเด่นสะดุดตา ให้ความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ยังคงประทับอยู่ภายในเรสซิเดนซ์แห่งนี้ โดยมีนักเดินทางเปรียบเสมือนแขกเรือนที่ทรงอนุญาตให้เข้าพักค้างแรมในตำหนักส่วนพระองค์
แต่ทันทีที่ก้าวเข้าไปในห้องพัก คุณจะประหลาดใจกับการตกแต่งด้วยโทนสีขาวสะอาดตา โถงกระจกสูงอนุญาตให้แสงแดดอุ่นเข้ามาเติมเต็มบรรยากาศสุขสงบและเรียบง่าย ที่ลงตัวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง และผ้าม่านสีน้ำทะเลทำหน้าที่เชื่อมการออกแบบพื้นที่ภายนอกกับภายในเข้าไว้ด้วยกัน ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องพักครบครันทั้งเครื่องครัว ทีวี ตู้เย็น ชั้นวางหนังสือ สร้างความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย เหมือนเราได้นอนพักในห้องนอนที่บ้านของตัวเอง
“สำหรับคนที่ไม่ได้อินกับประวัติศาสตร์หรือราชวงศ์ไทย ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านที่คุณเดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่า “นี่คือห้องนอนของเรา นี่คือบ้านของเรา” เพราะทุกรายละเอียดที่เราร่วมกันตกแต่งและจัดวาง เพื่อสร้างความรู้สึกแบบ “Feel at Home” อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ผมกับกบเชื่อมั่นมาตลอด และมันก็ผ่านการพิสูจน์โดยแขกที่มาเข้าพักแล้วว่า พวกเขารู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ นี่คือจิตวิญญาณของเรสซิเดนซ์เล็ก ๆ ของพวกเรา”
นอกจากจะเปิดให้บริการในรูปแบบเรสซิเดนซ์ สถานที่แห่งนี้ยังจัดให้มีเวิร์คช้อปและคอร์สอบรมพิเศษ อาทิ Dining Etiquette Practice ครั้งที่ 4 หรือคอร์สมารยาทการรับประทานอาหารตะวันตกอย่างรื่นรมย์ เปิดคลาสในวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2562 โดยมีท่านทูตอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำ กระทรวงต่างประเทศ ให้เกียรติเป็น guest speaker (ท่านละ 5,000 บาท) ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. (061) 5269293 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง FB: Vimala Residence
⠀⠀⠀⠀⠀⠀
❤ Vimala Residence
☎ (061) 526 9293
🚗 68 สุขุมวิท 26 (ซอยอารีย์) กรุงเทพมหานคร ฯ
🌎 https://vimala-residence.com
- รวมไอเดียแฟชั่นชุดกี่เพ้า ตรุษจีนปีนี้คุณต้องเก๋จัดกว่าใคร - January 20, 2020
- พัทยาพาฟิน! ขับรถไปเช็คอินเก๋ๆ ที่ร้าน ‘ไทยมาเช่’ กันดีกว่า - December 5, 2019
- นิทรรศการ Living Cemetery นิทรรศการเดี่ยวของปราง เวชชาชีวะ - August 30, 2019
สมัชชา เกิดมาในยุคภาพถ่ายขาวดำและกล้องฟิล์มผ่านการร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพจาก.
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมงานถ่ายภาพกับเอเจนซี่ชื่อดังก่อนจะไปใช้ชีวิตที่ลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
สมัชชา เป็นช่างภาพมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างความมหัศจรรย์และมนต์เสน่ห์ให้แก่ภาพถ่ายทุกภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านการจัดวางองค์ประกอบ การให้แสง ตลอดจนการทำ Post Production เขามีปรัชญาการทำงานว่า “สร้างความแปลกใหม่ให้กับงานธรรมดาๆ แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง”
สมัชชา ยังคงถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตอันแสนจะวุ่นวายกับภรรยาและแมวอีก 40 ตัว
writer | นักเขียนสายมู ผู้หลงใหลศาสตร์การทำนาย บำบัด ศิลปะ กาแฟ ดนตรี ซีรีย์ และซอมบี้ เป็นชีวิตจิตใจ คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมาเกือบ 20 ปี เคยเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม นักเขียนประจำนิตยสารชื่อดัง และนักเขียนประจำเอเยนซี่โฆษณาเบอร์ต้นของเมืองไทย ก่อนที่คลื่นดิจิทัลจะพัดพาให้กลายเป็นนักเขียนอิสระที่มีลูก ๆ เป็นกระต่ายหูตกให้ดูแลถึง 9 ตัว