Now Reading
‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา ผ่านภาพถ่ายและตัวอักษรของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา ผ่านภาพถ่ายและตัวอักษรของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

เหตุผลที่ไม่ควรพลาดนิทรรศการภาพถ่ายชุด ‘Hundred Years Between’ โดย คุณใหม่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 คือการสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ของการชมงานศิลปะ ที่ได้แรงบันดาลใจจากจดหมายของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ จัดแสดงใน ศุลกสถาน หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม สถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิคอายุกว่า 130 ปี ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะปิดให้เข้าชมถาวรเพื่อปรับปรุงเป็นโรงแรมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา
‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

ส่วนอีกเหตุผลคือการเดินทางข้ามกาลเวลา ผ่านภาพถ่ายและตัวอักษรที่คุณใหม่เขียนถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อสัมผัสกับอีกแง่มุมที่น้อยคนจะรับรู้ในฐานะ พ่อ และความเป็นปุถุชนของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5)

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา
‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา
‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

นิทรรศการครั้งนี้จึงไม่ใช่การตามรอยรัชกาลที่ 5 เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสะท้อนเรื่องราวผ่านจดหมายและภาพถ่ายของคุณใหม่ในฐานะโหลน ทุกห้องประดับด้วยภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่จัดแสดงไว้อย่างเรียบง่าย ปล่อยให้แสงเงาธรรมชาติสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้แก่ผู้ชม ที่เปลี่ยนแปลงไปราวกับคนละภาพเมื่อต้องแสงไฟในยามค่ำคืน คุณใหม่เลือกที่จะเล่าผ่านกล้องฟิล์มด้วยเหตุผลที่ว่า “มันมี Texture ที่อยู่ในเรื่องราว ทำให้ภาพที่ออกมามีเสน่ห์ในตัวเอง”

FYI ชวนคุณย้อนกาลเวลาสู่เรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่คุณไม่เคยสัมผัส ผ่านบทสนทนาที่อบอุ่นเป็นกันเองของคุณใหม่ ที่พาสื่อมวลชนนำชมนิทรรศการด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงสดใส ในวันที่ท้องฟ้าครึ้มฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับภาพถ่ายสีครึ้มโทนฟ้า เขียว และเทา ที่ย้อมให้บรรยากาศในศุลกสถานทั้งสงบเงียบและลึกลับในเวลาเดียวกัน

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

แรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการ ‘Hundred Years Between’

“จริงๆ มีคนตามรอยพระองค์เยอะ แต่เราไม่อยากทำตามคนอื่น ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ชอบเล่าเรื่องราวต่างๆ เราจึงค้นหาวิธีนำเสนอในมุมที่ไม่เหมือนใคร เราเลยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุครัชกาลที่ 5 เพื่อถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราวความสำคัญของการเสด็จเยือนนอร์เวย์ในครั้งนั้น นำมาจัดเรียงบนโต๊ะทำงานเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ แม้จะมีบางเรื่องราวที่ขาดหายไปบ้าง แต่มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดผ่านมุมมองของแต่ละคน”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

“หลายคนคาดหวังให้เราถ่ายภาพมุมเดียวกับท่าน ซึ่งเราคงทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเราเป็นคนที่มีความเป็นตัวตนสูง อีกอย่างคนทุกคนก็ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันเราย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา เราไปที่เดียวกันไม่จำเป็นต้องถ่ายรูปมุมเดียวกันหรือได้รับประสบการณ์คล้ายกัน แต่เราไปค้นหาร่องรอยที่เชื่อมอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน ทุกภาพที่ออกมาจึงนำเสนอธรรมชาติและความสัมพันธ์ของผู้คน ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ลึกลับ และโหดร้ายในเวลาเดียวกัน”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

คุณใหม่ได้เรียนรู้หรือสัมผัสกับประสบการณ์ใดจากการตามรอยรัชกาลที่ 5

“ประโยคหนึ่งที่เรามักจะพูดเสมอคือ แม้พระองค์ท่านจะเป็นกษัตริย์หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์มีเหมือนกับเราทุกคนคือ ความรู้สึกส่วนพระองค์ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ นี่เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคอนเส็ปต์ของงานในครั้งนี้ ในจดหมายของท่านสะท้อนความรู้สึกที่ทุกคนเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ถึง humanity หรือความเป็นปุถุชนของรัชกาลที่ 5”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

“จดหมายของท่านทำให้เราสัมผัสได้ถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้งและเชื่อมต่อความรู้สึกกับพระองค์ เพราะมันเป็นจดหมายที่พ่อเขียนถึงลูกของท่านเอง ทรงบรรยายความรู้สึกและใช้คำแทนพระองค์ว่า “พ่อ” ตลอดเวลา สะท้อนความเป็นส่วนตัวมากกว่าจดหมายทางการที่เราเคยอ่านในชั้นเรียน มันเป็นจดหมายที่ทำให้เราเข้าใจว่าพ่อรู้สึกอย่างไร กลัวอะไร คิดถึงบ้านมากแค่ไหน ท่านต้องต่อสู้กับธรรมชาติและความรู้สึกของตัวเอง”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

ความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการอ่านจดหมายและตอนที่ไปยืนอยู่จุดเดียวกับท่าน แตกต่างกันอย่างไร

“แตกต่างกันมาก ทุกวันความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนแปลงไป ในฐานะนักเล่าเรื่องทุกอย่างที่เราทำมีเหตุผลในตัวเอง ไม่ว่าจะเริ่มด้วยภาพไหนและจบด้วยภาพไหน ให้คนเข้าใจสิ่งที่อยู่ในความคิดของเรา ก่อนเดินทางเราคิดภาพในหัวไว้ประมาณ 60% เพราะเราไม่รู้หรอกว่ามีอะไรรออยู่เบื้องหน้า มันไม่มีเรื่องราวไหนที่จะสมบูรณ์ในวันเดียว ที่เหลือเราจะคิดออกตอนไปนอร์เวย์”

“วันที่เราตามรอยไปถึงนอร์เวย์ คนจะรู้สึกว่าเราโชคไม่ดีเลยที่ฟ้าครึ้ม แต่เรากลับมองว่าโชคดี บางทีอากาศครึ้มๆ เราอาจจะมองเห็นมุมมองที่แตกต่างก็ได้ พอขึ้นไปบนเขาจริงๆ มันไม่เหมือนในภาพถ่ายที่เราเห็น ไหนจะเมาเรือ ไหนจะฟ้าปิด แต่นั่นล่ะธรรมชาติคือสิ่งที่บังคับไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวท่ามกลางสภาพอากาศที่โหดร้าย เพราะธรรมชาติมีความงามและพลังในการทำลายล้างในเวลาเดียวกัน เหมือนเช่นที่รัชกาลที่ 5 ทรงรู้สึก”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

คุณใหม่มีเทคนิคในการจัดแสดงนิทรรศการอย่างไร

“ในฐานะ Curator เราไม่อยากให้ภาพถ่ายลดทอนประวัติศาสตร์ของศุลกสถาน แต่เราอยากให้เรื่องราวในจดหมาย ภาพถ่าย แสงสว่าง และศุลกสถานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน รูปทั้งหมดต้องปรินท์ขนาดใหญ่เท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนห้อมล้อมด้วยเรื่องราวในภาพ แสงสว่างเราคิดร่วมกับคุณแอน (กนกพร นุชแสง นักออกแบบแสง) เพื่อเล่นกับความรู้สึกของผู้ชม กลางวันจะรู้สึกแบบหนึ่ง ขณะที่กลางคืนจะรู้สึกเหมือนเป็นอีกงานหนึ่ง บวกกับการเลือกภาพที่ดูลึกลับเข้ากับศุลกสถาน เพราะเราคิดว่าความลึกลับสร้างอารมณ์ได้ดี อีกทั้งความไม่สมบูรณ์แบบของภาพจากกล้องฟิล์มนี่ล่ะ ที่ทำให้มันสวยและมีช่องว่างในการเคลื่อนไหวในจิตใจ ทำให้ผลงานของเรามีชีวิต”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

คนที่เข้ามาชมนิทรรศการของคุณใหม่ ควรจะอ่านจดหมายหรือชมภาพถ่ายก่อนดี

“การอ่านจดหมายก่อนจะทำให้เข้าใจเรื่องราวในภาพได้ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วคนเราเข้าไปในห้องจัดนิทรรศการก็มักจะชมผลงานหรือภาพถ่ายเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว หลายคนพูดว่า ชมนิทรรศการของเราแล้วภาพยังติดตรึงในความทรงจำและมีเรื่องเล่าของตัวเองกลับไป มันเป็นการเล่าเรื่องที่ไม่รู้จบ เราถือว่านิทรรศการได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว เหมือนผู้ชมได้ออกสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองผ่านจดหมายและภาพถ่ายใน Hundred Years Between”

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา

นิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between จัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (BKKDW 2020) ตั้งแต่วันนี้– 9 กุมภาพันธ์ 2563 เปิดทุกวันตั้งแต่ 11.00 – 21.00 น.ณ ศุลกสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (ชมได้รอบละ 20 คน) ผู้สนใจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่ www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between

‘Hundred Years Between’ เดินทางข้ามกาลเวลา
อภิพร วัชรสินธุ์
Latest posts by อภิพร วัชรสินธุ์ (see all)

    สมัชชา อภัยสุวรรณ
    Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)