Now Reading
‘จัมซัน’ ศิลปินสายดาร์คจากซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay สู่นิทรรศการแรกในไทย

‘จัมซัน’ ศิลปินสายดาร์คจากซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay สู่นิทรรศการแรกในไทย

จากเรื่องเล่าในนิทานสายดาร์คที่เคยโลดแล่นในซีรีส์ “It’s Okay to Not Be Okay” (2020) และนิยายรักชวนฝันในซีรีส์โรแมนติกดราม่า “Encounter” (2018) ทั้งฝีแปรง ลายเส้น และการใช้สีสันต่างก็มีคาแร็กเตอร์โดดเด่นไม่เหมือนกัน ทว่าอัดแน่นด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความเหงาอย่างประหลาด มันเป็นความเหงาเพียงส่วนเสี้ยวของ “จัมซัน” ศิลปินเกาหลีใต้ ผู้นำพาเรื่องราวที่โลดแล่นในซีรีส์มาจัดนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทย งานศิลปะที่จะชวนคุณเดินทางเข้าไปสำรวจในจิตใจและรื้อค้นกล่องแห่งความทรงจำในวันวาน ผ่านเรื่องราวแฟนตาซีที่มีรสชาติขมพร่าเจือด้วยน้ำตาแห่งความฝันและความสุขที่หล่นหายในนิทรรศการ “Jamsan’s Director’s Cut”

It’s Okay to Not Be Okay

พลันเมื่อผลักประตูไม้บานใหญ่ของเมซง เจอี (Maison JE Bangkok) อาร์ตสเปซแห่งใหม่ในย่านสุรวงศ์ คุณจะได้พบกับพื้นที่สีขาวสะอาดตากับแสงไฟนวลละมุน ที่ขับให้โรสบนเก้าอี้สีแดงกลายเป็นงานอาร์ตที่สะดุดตาตั้งแต่วินาทีแรกที่เราได้พบกัน

เส้นผมของโรสตัดกับเก้าอี้สีแดงตัวใหญ่ นัยน์ตากลมโตคู่นั้นเต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ หากแต่ริมฝีปากเรียบเฉยเป็นเส้นตรงของเธอกลับไม่บ่งบอกถึงอารมณ์ใดๆ คล้ายกับจะกดข่มความรู้สึกไม่ให้เผยถึงความโดดเดี่ยวในใจ ใกล้กันเป็นภาพของโรสในอ้อมกอดของน้องหมีสีแดงตัวใหญ่ ที่จัมซัมบอกว่า “เจ้าหมีสีแดงก็คือ เก้าอี้สีแดงตัวที่โรสนั่งอยู่นั่นล่ะครับ สำหรับโรสเก้าอี้ก็เหมือนเพื่อนในจินตนาการของเธอ”

เป็นครั้งแรกที่ จัมซัน (Jamsan) ศิลปินแนว Concept Art ชาวเกาหลีใต้วัย 50+ ปี เดินทางมาจัดแสดงนิทรรศการในเมืองไทย “Jamsan’s Director Cut” ชายร่างเล็กในชุดเสื้อยืดสีดำสบายๆ กับรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นระคนกับความสุขผุดพรายบนใบหน้า แม้จะดูเหนื่อยล้าจากการเดินทางพอควร แต่เขาก็กล่าวทักทายสื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงสดใส

“จริงๆ แล้วนี่เป็นการเดินทางมาถึงเมืองไทยครั้งแรกของผมครับ ทีแรกผมคิดว่าเกาหลีมีธรรมชาติเยอะ แต่พอมาถึงเมืองไทยแล้วผมรู้สึกประหลาดใจที่เมืองไทยมีธรรมชาติเยอะกว่าเกาหลี ผมอยากขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน หลายคนอาจจะมาไกล แต่ผมมาไกลกว่า” เขาพูดติดตลกพร้อมกับรอยยิ้มบางๆ ก่อนจะเริ่มต้นถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่นำผลงานภาพวิจิตรศิลป์ ภาพประกอบ และคอนเซ็ปต์อาร์ตมาให้คนไทยได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด

“ผมอยากให้คุณดึงอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ข้างในออกมา เพื่อให้อารมณ์กับภาพของผมเชื่อมต่อเข้าหากัน ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องรู้สึกเหมือนกันกับผม เพราะประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตทำให้คนเราตีความศิลปะไม่เหมือนกัน แต่ผมก็ชอบที่จะใส่สัญลักษณ์ลงไปในผลงาน เพื่อบ่งบอกความหมายบางอย่าง คุณจะเห็นดวงดาวที่ร่วงหล่นจากท้องฟ้า มันก็เหมือนช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นไป”

“กระบองเพชรก็เหมือนความเจ็บปวดที่เรากอดเก็บมันไว้ จนหลงลืมไปว่ามันทำให้เราเจ็บปวดและมีแผลในใจ ดอกกุหลาบที่เหี่ยวเฉาเปรียบเสมือนความรักที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ความรักก็เลยเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา ส่วนสีแดงผมใช้แทนความปรารถนาของมนุษย์ เมื่อเราปรารถนาจะครอบครองสิ่งใด เราก็อยากจะให้มันเป็นดั่งใจต้องการ เหมือนที่เก้าอี้สีแดงแปรเปลี่ยนเป็นหมีสีแดงตัวใหญ่ เพราะนั่นเป็นความปรารถนาของโรส”

ใบหน้าของเขามีรอยยิ้ม หากแต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดบนภาพวาดกลับเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แทนความหมายของชีวิต ความรัก ความฝัน ความสุข ความเศร้า ความผิดหวัง และความสำเร็จ แม้จะดูเป็นภาพจิตรกรรมสาวน้อยตาโตชวนฝัน แต่ภาพของจัมซันกลับเต็มไปด้วยมุมมองความคิดและปรัชญาชีวิตจากชายที่ผ่านร่องรอยอดีตมาแสนนาน สะท้อนผ่านคอลเล็กชัน “Red Chair” และ “Rose from the Stars” ที่จัดแสดงบนชั้น 1 ของเมซง เจอี

ราวกับจัมซัมกำลังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนเรา ผ่านตัวละครที่เขาสร้างขึ้นมาในชื่อ “โรส”

รอยยิ้มที่หายไปของเด็กชายไร้หน้า และหยดน้ำตาของเจ้าหนูซอมบี้

บนชั้น 2 ของเมซง เจอี มีคอลเล็กชันคุ้นตาจากซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ร้อยเรียงเรื่องราวอย่างเรียบง่าย มันเป็นภาพชุดเดียวกับที่เราเคยน้ำตาซึมในซีรีส์เรื่องนี้มาแล้ว อย่างที่รู้กันดีว่า เรื่องราวในซีรีส์จะว่าด้วยนักเขียนหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) จึงทำให้จัมซันเลือกที่จะถ่ายทอดเทพนิยายที่เต็มไปด้วยความมืดหม่นและความแปลกประหลาด

“ผมเคยร่วมงานกับโปรดิวเซอร์พัคชินวูมาก่อนจากซีรีส์ Encounter (2018) ทางช่อง tvN ซึ่งนำแสดงโดยซงเฮเคียวและพัคโบกอม โปรดิวเซอร์พัคบอกกับผมว่า เขากำลังเตรียมสร้างซีรีส์ดาร์คๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวท ซึ่งผมก็สนใจอย่างมากที่จะเข้าร่วมโปรเจ็กต์นี้ เลยแชร์ความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับซอมบี้และเทพนิยายที่โหดร้าย” จากบทสัมภาษณ์ของจัมซันใน The Korea Times ปี 2020

“หลังรับบรีฟจากผู้กำกับมาแล้ว ผมต้องนำสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดลงบนภาพวาดกับไทม์ไลน์ที่มีจำกัดมาชั่งน้ำหนักและตีความว่าภาพควรจะออกมาเป็นอย่างไร แม้ในซีรีส์คุณจะได้เห็นภาพวาดของผมเพียงไม่กี่วินาที แต่ผมก็พยายามถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลงไปในลายเส้น กลายเป็นว่าคนดูชื่นชอบงานของผม และทำให้ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำงานต่อไป มันเป็นความทรงจำที่ดีเรื่องหนึ่งของผมเลยครับ”

ห้องถัดไปเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่บอกเล่าด้วยลายเส้นและการใช้สีเข้มๆ เพื่อบ่งบอกถึงความเจ็บปวดทางอารมณ์ของตัวละคร “The Boy who Fed on Nightmares” เด็กชายที่หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยฝันร้ายตลอดชีวิต อีกฟากหนึ่งเป็นเรื่องราวความรักของแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่ง ซึ่งคลอดลูกชายเป็นซอมบี้ “Zombie Kid” เป็นผลงานเรียกน้ำตาของผู้ชมทั่วโลกมาแล้ว แม้ดูเพียงภาพโดยไม่รู้เรื่องราวในซีรีส์ คุณก็ยังรับรู้ได้ถึงความสะเทือนใจของแม่ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อดูแลลูกซอมบี้หนึ่งเดียวในชีวิต

แรกทีเดียวเธอนำสัตว์ต่างๆ มาเป็นอาหารให้กับลูกน้อย แต่เมื่อภาวะขาดแคลนและผู้คนทิ้งร้างหมู่บ้านเล็กๆ ไปจนหมด เธอจึงยอมหั่นร่างของตัวเองเพื่อเป็นอาหารให้ลูกน้อย จากแขน ขา เหลือเพียงลำตัวที่เป็นอาหารมื้อสุดท้าย พลันที่เขาสัมผัสร่างกายของแม่เป็นครั้งสุดท้าย เจ้าหนูถึงกับร้องไห้แล้วพูดว่า “ร่างกายของแม่อุ่นจัง”

นาทีนั้นเราสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่เจ้าหนูซอมบี้โหยหามาตลอดชีวิต มันคือ “อ้อมกอดของแม่” และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างก็โหยหาไม่ใช่หรือ? อ้อมกอดของคนที่รักจนสุดหัวใจ จัมซันแฝงความหมายของชีวิตไว้ในลายเส้นที่มีเอกลักษณ์ และเราก็สัมผัสได้ถึงแววตาที่เปี่ยมด้วยความเศร้าของเจ้าหนูซอมบี้

“แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะจบลงหลายปีแล้ว แต่ผมก็ยังประหลาดใจที่ผู้คนยังคงแสดงความสนใจและรักตัวละครเหล่านี้ต่อไป” เขากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times “จำนวนผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียของผมก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผมยังคงได้รับข้อความมากมายจากแฟนละคร”

มหัศจรรย์แห่งรักในห้องสุดท้ายของ Jamsan

เมื่อคนแปลกหน้าพบรักกันในดินแดนห่างไกล เรื่องรักสุดโรแมนติกของรักต่างชนชั้นจึงเริ่มต้นขึ้นในซีรีส์ Encounter (Boyfriend) ใบเบิกทางให้ผลงานของจัมซันก้าวสู่วงการบันเทิงเกาหลีอย่างสวยงาม ลายเส้นที่ดูฟุ้งฝัน ซับซ้อน กับการใช้โทนสีเข้มตัดกับสีทองที่มีความเปล่งประกายคล้ายปาฏิหาริย์ เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จผลงานที่สื่อให้เห็นว่า ในความรักไม่จำเป็นต้องใช้โทนสีอ่อนหวานพาสเทล สีชมพู หรือสีแดงสดใสเพียงอย่างเดียว

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เฉดสีแห่งรักของแต่ละคนก็อาจจะขื่นขมและหม่นหมองในบางเวลา “การยอมให้คนๆ หนึ่งเข้ามาในหัวใจ มันมีความหมายมากเลยนะครับ” จินฮยอก (รับบทโดย พัคโบกอม) กล่าวไว้ในซีรีส์

จัมซันเปรียบเปรยหญิงสาวเหมือน “ดวงจันทร์” ส่วนชายหนุ่มเปรียบเหมือน “ดวงตะวัน” ที่โคจรมาพบกันในช่วงเวลาหนึ่ง ความแตกต่างของคนทั้งสองกลายเป็นแรงดึงดูดมหาศาล ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามที่คอยทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจ พวกเขาจับมือกันก้าวข้ามมันไป พร้อมกับการเดินทางด้วยเรือที่ล่องลอยบนฟากฟ้า

“หลังจากทำงานเป็นศิลปินแนวคอนเซ็ปต์อาร์ตมากว่า 20 ปี แล้วก็พบเจอกับความไม่แน่นอนของชีวิตที่มีทั้งขึ้นๆ ลงๆ ผมก็พบว่าชีวิตไม่ได้สวยงามเสมอไป ผมเคยผ่านช่วงตกต่ำในอาชีพการงาน ก่อนจะค้นพบความสุขในการวาดภาพซอมบี้และเทพนิยายที่มีจุดหักมุมอันมืดมน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือ การเล่าเรื่องราวผ่านภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผมยังคงหลงรักไม่เปลี่ยนแปลง”

แม้ชีวิตจะล่วงเลยเข้าสู่วัย 50 กว่าปีแล้ว หากแต่จัมซันยังคงหลงรักศิลปะและการ์ตูนเหมือนวัยเยาว์ เขาฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนและเลือกเรียนศิลปะมาตั้งแต่มัธยมปลาย บวกกับศึกษาวิชาเอกด้านภาพประกอบและแอนิเมชั่นที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติคงจู (Kongju National University) เขาทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์และอาร์ตไดเร็กเตอร์มาตั้งแต่เรียนจบ ก่อนตัดสินใจลาออกจากอาชีพนักวาดภาพประกอบตอนอายุ 20 ปลายๆ เพื่อตามหาความฝันที่หล่นหายไปจากวันวาน

“ผมอยากจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านงานศิลปะมาโดยตลอด เพราะผมคิดว่างานศิลปะที่ดีแตกต่างจากงานศิลปะที่วาดออกมาดี ศิลปะที่ดีต้องเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกให้กลายเป็นงานศิลปะได้” ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จัมซันในนิตยสารออนไลน์ The Korea Times

หลังจากทำตามความต้องการของลูกค้าและความปรารถนาของผู้อื่นมาโดยตลอด สองทศวรรษที่หายไปของจัมซันถูกเติมเต็มด้วยฝันที่เป็นจริงในวัย 40 ปลาย ความสำเร็จครั้งใหญ่ของซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ทำให้บริษัทผู้ผลิตได้ตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือนิทาน 5 เล่มของจัมซัน ได้แก่ “The Boy Who Fed on Nightmares” “Zombie Kid” “The Cheerful Dog” “The Hand, the Monkfish” และ “Finding” ใบหน้าที่แท้จริง” และติดอันดับหนังสือขายดี 20 อันดับแรกแห่งปี 2020 ในเกาหลีใต้ (ข้อมูลจากร้านหนังสือ Kyobo และเว็บไซต์ YES24)

ในห้วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะบอกลานิทรรศการของเขา เราเอ่ยถามถึงเหตุผลที่หลายภาพของเขาเต็มไปด้วยอารมณ์เหงาเจือจางด้วยความหม่นเศร้าในบางครา จัมซันอธิบายว่า เขาอยากถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลงในภาพเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารด้วยว่า คุณจะสัมผัสอารมณ์แบบไหนได้จากเรื่องราวในภาพๆ นั้น

“จริงๆ แล้วผมจะคอยนึกถึงตลอดว่า ความเหงาควรจะมีมากน้อยแค่ไหนเวลาเราสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมา มันก็เหมือนกับการทำงานบางอย่าง บางครั้งคนเราก็ไม่สามารถที่จะแสดงความรู้สึกมากหรือน้อยจนเกินไป ในคำๆ เดียวกันเราสามารถใส่อารมณ์เพื่อให้คำพูดดูแรงขึ้นหรือซอฟต์ลงได้ สุดท้ายอยู่ที่คนรับฟังว่า จะรับอารมณ์ในสิ่งที่ผู้พูดหรือศิลปินสื่อสารออกไปได้มากน้อยเพียงไร

“ผมเลือกแล้วว่า จะถ่ายทอดอารมณ์ออกไปมากน้อยแค่ไหนในผลงานของผม อย่างในซีรีส์ผมอยากจะใส่อารมณ์ต่างๆ ออกไปแบบเต็มที่ครับ เวลาเราจะส่งสารไปถึงใคร ความรุนแรงหรืออารมณ์ก็ขึ้นอยู่กับคนส่งสารด้วยครับว่า เขาตีความสารที่เราส่งไปในรูปแบบไหน ในอนาคตผมอาจจะสื่ออารมณ์ที่เข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นกว่านี้อีก ขึ้นอยู่กับว่าผมอยากจะสื่อสารอารมณ์แบบไหนให้กับผู้ชมครับ”

พูดจบจัมซันก็ยิ้มอย่างอบอุ่นให้กับเรา เป็นรอยยิ้มที่ดูผ่อนคลายและสบายๆ กว่าตอนเริ่มต้นงาน เห็นได้ชัดว่าเขาคงประหม่าเมื่อต้องสื่อสารกับคนต่างวัฒนธรรมต่างภาษา หากแต่ศิลปะก็เป็นภาษาสากลที่ทำให้เราเข้าใจผลงานของจัมซันได้หลากหลายแง่มุม เขาจรดปากกาสีทองเพื่อเซ็นต์สมุดภาพ “Jamsan Art Book Red Chair” เล่มใหญ่ให้เรา พร้อมกับแต่งแต้มรูปดาวเล็กๆ และเงาของโรสตรงมุมหนังสือ

ก่อนจะบอกลาเรื่องราวมากมายในนิทรรศการ Jamsan’s Director’s Cut ที่เป็นเหมือนหนังสือนิยายที่เราสามารถเปิดอ่านได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบเท่าที่เรื่องราวในภาพวาดและนิทรรศการยังจัดแสดง ณ เมซง เจอี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน – 21 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์) บริเวณถนนสุรวงศ์ เราก็คงได้พบกับผลงานของจัมซันอีกหลายๆ ครั้ง

กดติดตามเราได้ที่

website       :  www.fyibangkok.com

facebook     : https://www.facebook.com/fyibangkok

instagram    : https://www.instagram.com/fyibangkok

twitter         : https://twitter.com/fyibangkok

youtube       : https://www.youtube.com/channel/UChhOQmckv2fqgkXJZ-Q1nCA

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์

สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)