KARINA RETUERT ศิลปินหญิงชาวชิลี กับนิทรรศการแรกของเธอในประเทศไทย
PUENTE สะพาน – A Link between Reality and Imagination ที่จะพาให้เราข้ามผ่าน จินตนาการและความเป็นจริงผ่านผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพภูมิทัศน์ที่หลากหลาย ทั่วโลก
ภายในห้องจัดแสดงของ Play Art House ที่ตั้งอยู่บนถนนทรงวาด คือพื้นที่ที่ คาริน่า รีเทิร์ท ศิลปินหญิงชาวชิลี ใช้เป็นสถานที่ในการจัดแสดงผลงานกว่า 20 ชิ้นของเธอ งานนี้ศิลปินสาวตื่นเต้น นิดหน่อยเพราะนี่คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย แม้ตลอดการทำงานกว่า 14 ปี ที่ผ่านมาในฐานะศิลปินเต็มตัว เธอจะมีนิทรรศการมาแล้วมากมายทั้งเดี่ยวและกลุ่มทั้งที่ประเทศชิลี บ้านเกิด เม็กซิโก และไทย
ปัจจุบันคาริน่าย้ายมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ตามหน้าที่การงานของสามีได้ราวปีครึ่ง นับเป็นครึ่งทาง พอดีจากกำหนดการสามปี ในช่วงเวลาดังกล่าวเธอมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นลาว บาหลี หรือแม้แต่ภายในประเทศไทย เพื่อเก็บเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน “สามีของฉันทำงานด้านการพัฒนา ทำให้เราต้องเดินทางตลอดเวลาทุก 3-4 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ เราอยู่ที่เม็กซิโก ก่อนหน้านั้นอยู่เยอรมันและชิลี การได้อาศัยอยู่ในที่ที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ ฉันถือเป็น วัตถุดิบชั้นดีต่อจิตใจ ฉันมีทิวทัศน์มากมายจากทั่วโลกเก็บอยู่ในความทรงจำเพื่อใช้ สร้างสรรค์ผลงาน” คาริน่ากล่าว
คาริน่าเรียนจบด้านกราฟฟิกดีไซน์และทำงานในสายเดียวกันมายาวนานกว่า 15 ปี ระหว่างนั้น การวาดภาพถือเป็นงานอดิเรกของเธอ จวบจนเมื่อตัดสินใจว่าจะยึดอาชีพศิลปินเป็นอาชีพหลัก เธอจึงไปลงเรียนคอร์สศิลปะอย่างจริงจังทั้งที่เยอรมัน และเม็กซิโก
Puente – สะพานแห่งการเชื่อมโยง
คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้ คาริน่าเลือกคำในภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาแม่ของเธอมาใช้ Puente (พู-เอน-เต้) มีความหมายว่าสะพาน เธอตั้งใจให้ผู้ชมได้มองเห็น สิ่งที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปกว่าการมอง ภาพทิวทัศน์ที่นำเสนอ “ฉันอยากสร้างพื้นที่ที่เชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงและจินตนาการ ซึ่งใน ความรู้สึกของฉัน พื้นที่ตรงนั้นคือพื้นที่บนสะพานที่เชื่อมทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน ถ้าคุณยืนอยู่บน สะพานคุณสามารถมองเห็นได้ทั้งความจริงและจินตนาการได้ทั้งสองฝั่ง” คาริน่ากล่าว
วิธีการสร้างสรรค์งานของเธอเองก็สอดคล้องกับความคิดดังกล่าว ในยามที่เธอวาดภาพทิวทัศน์ คาริน่าไม่เคยร่างแบบ ไม่แม้แต่จะวาดจากถ่ายภาพ ในทางกลับกันยามที่ถ่ายทอดลงบนเฟรม เธอสร้างสรรค์ผลงานโดยอาศัยภาพจริงที่เคยเห็น อารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้น ผสานกับจินตนาการ จากความทรงจำ ดังนั้นภาพที่ผู้ชมได้เห็นก็เปรียบเหมือนพื้นที่บนสะพานที่เชื่อมโยงความรู้สึก และอารมณ์ในยามที่ศิลปินถ่ายทอดผลงาน ผสานกับทิวทัศน์ และบรรยากาศที่อยู่ในใจ
“ผลงานส่วนใหญ่ของฉัน รวมทั้งโปรเจ็คท์นี้มักมาจากทิวทัศน์ที่เคยได้พบเจอ ฉันหลงรักทิวทัศน์ของ ท้องทะเล เมฆ ภูเขา พระอาทิตย์ตก ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงสถานที่ใดโดยเฉพาะเจาะจง แต่ยังรวมถึง ทิวทัศน์ที่เกิดขึ้นในใจและความทรงจำ การได้เดินทางเปลี่ยนที่อยู่อาศัย รวมถึงเวลาและความ ทรงจำที่ผ่านไป มีผลต่อสีสันและรูปทรงของภาพที่อยู่ในใจเช่นกัน งานทุกชิ้นที่เห็นในนิทรรศการนี้ ฉันลงมือทำในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในเอเชีย แม้ภาพที่ถ่ายออกมาจะได้รับอิทธิพลจากการอยู่ที่นี่ แต่ฉันเชื่อว่าในเสี้ยวแห่งความทรงจำก็ย่อมมีสถานที่อื่นที่ฉันเคยอยู่มาผสมอยู่ในภาพเช่นกัน” คาริน่าอธิบาย
สื่อผสมที่ไม่ซ้ำใคร
เอกลักษณ์ในงานของศิลปินสาวคือการเลือกใช้สื่อผสมในการนำเสนอ บนพื้นฐานของงานภาพเขียน ส่วนประกอบของสีสันที่เห็นในภาพ คือหมึกหลากสีและสีอะคริลิก นอกจากนี้ยังมีการใช้สีพาสเทล ทอง หรือแม้แต่การปัก การสานเฟรมผ้าใบ การใช้กระดาษและผ้าเข้ามาช่วยเพิ่มเรื่องราว
“ฉันเริ่มวาดภาพจากสีอะคริลิกก่อนจะเริ่มนำหมึกมาผสม ผลงานในห้องด้านนอกของแกเลอรี่ ทั้งหมดเป็นการผสมผสานระหว่างสีอะคริลิกและหมึก เหตุผลที่หมึกมีบทบาทสำคัญในงานทุกชิ้น เพราะฉันไม่เคยร่างงานด้วยดินสอหรืออะไร แต่ฉันมักเริ่มจากการไม่คิดอะไร แล้วปล่อยให้หมึก ได้ลื่นไหลไปตามธรรมชาติ เสร็จแล้วฉันอาจใช้เวลา 1-2 วันทิ้งไว้ ก่อนจะเริ่มใช้สีอะคริลิกแต่งเติม ให้เกิดเป็นภาพภูมิทัศน์ของสถานที่ที่อยากสื่อออกไป นี่ถือเป็นความตั้งใจในการสร้างสรรค์งาน ของฉัน ก็เหมือนกับชื่อของนิทรรศการในครั้งนี้ที่เป็นการเชื่อมโยงของจินตนาการและความเป็นจริง หมึกเป็นตัวแทนของอารมณ์ ไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไร จากนั้นจึงค่อยคิดว่าจะแต่งเติมด้วยอะคริลิก อย่างไรให้เป็นภาพที่สมบูรณ์”
พิกัดตามจินตนาการ
ทิวทัศน์ที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ มีทั้ง ลาว บาหลี เม็กซิโก ไอร์แลนด์ ชิลี รวมถึงกระบี่ และกรุงเทพ ในขณะเดียวกันบางภาพศิลปินก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นที่ไหน แต่เป็นภาพที่ ผสมผสานอยู่ในใจศิลปินเอง ส่วนภาพแรกฝั่งขวาจากทางเข้าคือรูปโทนสีแดงทอง ชื่อ SUNSET ภาพนี้เป็นชิ้นที่ศิลปินรักมากและอยู่กับเธอมานานกว่า 10 ปีแล้ว “สำหรับฉันนี่คือภาพพระอาทิตย์ ตกในชิลี ภาพนี้เดินทางไปกับฉันมาทุกที่ทั้งเม็กซิโก เยอรมันและไทย เวลามองครั้งใดก็ให้ความรู้สึก เหมือนบ้าน” คาริน่ากล่าว
นิทรรศการ Puente – สะพาน A Link between Reality and Imagination จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2563 ณ PLAY Art house ถนนทรงวาด ภายในนิทรรศการยังมี ภาพรีพริ้นท์ ที่พิมพ์ลงบนผืนผ้าใบขนาด A3 และผ้าพันคอไหมที่มีลวดลายเดียวกับผลงาน ให้ได้เก็บเป็นที่ระลึกอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดได้ที่
099 252 9191
playarts@playarthouse.com
- Seven Spoons สวรรค์ของคนรักอาหารอร่อย - November 25, 2019
- In Praise of WIJIT’s OIL PAINTING: 60×40 - October 1, 2019
- ชวนไปค้นหาสมบัติกับ 4 ตลาดนัดในโตเกียว ที่จะทำให้เสาร์-อาทิตย์ของคุณสนุกกว่าที่เคย - August 11, 2019
สมัชชา เกิดมาในยุคภาพถ่ายขาวดำและกล้องฟิล์มผ่านการร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพจาก.
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมงานถ่ายภาพกับเอเจนซี่ชื่อดังก่อนจะไปใช้ชีวิตที่ลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
สมัชชา เป็นช่างภาพมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างความมหัศจรรย์และมนต์เสน่ห์ให้แก่ภาพถ่ายทุกภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านการจัดวางองค์ประกอบ การให้แสง ตลอดจนการทำ Post Production เขามีปรัชญาการทำงานว่า “สร้างความแปลกใหม่ให้กับงานธรรมดาๆ แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง”
สมัชชา ยังคงถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตอันแสนจะวุ่นวายกับภรรยาและแมวอีก 40 ตัว