Now Reading
บทสนทนากับศิลปินในบ้านร้าง “Life is less without art” นิทรรศการใหม่ของสมพงษ์ พานิช

บทสนทนากับศิลปินในบ้านร้าง “Life is less without art” นิทรรศการใหม่ของสมพงษ์ พานิช

สปานิกชื่อดังวัย 76 ปีที่ผันตัวเองมาเป็นศิลปินและนักสะสมผลงานศิลปะล้ำค่า ตัดสินใจเช่าบ้านร้างหลังใหญ่ในชานกรุงอายุกว่า 30 ปี เพื่อเป็นพื้นที่เก็บสะสมผลงานศิลปะ เวิร์คช็อป ห้องรับแขก ห้องทำงาน และสถานที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะส่วนตัว อีกทั้งของสะสมบางชิ้นเคยจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกมาแล้ว เร็วๆ นี้เขาจะมีนิทรรศการครั้งใหม่ใน Inspiration Space ย่านเจริญกรุงอย่าง Charoen 43 Art & Eatery เราจึงชวนคุณมาสัมผัสกับเรื่องราวของ สมพงษ์ พานิช สถาปนิกชื่อดังที่ผันตัวเองมาเป็นศิลปินเต็มตัว ผ่านกองข้าวของในบ้านร้างและพลังงานบางอย่างที่โอบล้อมรอบตัวเรา

ศิลปินในบ้านร้างกลางซอย กับของสะสมหลักล้านและงานอาร์ตของเขา

จามจุรีต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านไปทั่วบริเวณ บดบังแสงแดดให้เหลือเพียงเงาหม่นใต้ร่มไม้ ก่อนที่ส่วนโดมของบ้านจะโผล่พ้นเงาไม้ออกมาอวดโฉมตระหง่าน บนหน้าต่างชั้น 2 ของบ้านที่มีเพียงผืนผ้าและบานไม้ไม่กี่แผ่นปิดบังไว้ให้แสงสว่างลอดผ่าน เราจอดรถเพื่อมองหาบ้านแปลกตาตามที่เจ้าของบ้านส่งข้อความไว้ใน inbox หากแต่ความแปลกตาเดียวที่เราเห็นคือ บ้านร้างที่ดูแล้วชวนขนลุกอย่างประหลาด

Life is less without art

เมื่อมองหาบ้านของศิลปินไม่เจอ เราจึงตัดสินใจโทร.ถามเส้นทางอีกครั้ง พลันปรากฎร่างเล็กๆ ของชายสูงวัยหน้าตาใจดีสวมเสื้อสีขาวและกางเกงลายทางดูราวกับบุปผาชนโบกมือให้เราจอดรถบริเวณหน้าบ้านร้าง เป็นความแปลกที่เหนือความคาดคิดของเราไปมาก ด้วยเหตุว่าก่อนจะมาสัมภาษณ์เราได้แต่จินตนาการถึงเวิร์คช็อปเท่ๆ เหมือนที่เห็นในนิตยสาร Art4D  

“มันร้างมาหลายสิบปีแล้วล่ะ ผมเพิ่งมาเช่าอยู่ได้ 8 เดือนเอง” สมพงษ์ยิ้มต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และยืนคุยกับเราถึงบ้านร้างอยู่ครู่ใหญ่ เขาชี้ชวนให้มองเห็นความงามบนความผุพังและเก่าคร่าของบ้านที่ขาดการดูแลนานหลายสิบปี บ้านที่คนในละแวกนี้เรียกว่า “บ้านผีดุ” ส่วนชาวดีลิเวอรีเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านร้างกลางซอย”

แต่ตลอดหลายเดือนที่เขาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในบ้านหลังนี้ สมพงษ์ไม่แม้แต่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของพลังงานใด ๆ ตรงกันข้ามเขากับรู้สึกผูกพันอย่างประหลาด น่าแปลกที่เราเองก็รู้สึกแบบเดียวกัน บ้านร้างหลังนี้มีพลังงานลึกลับที่ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ทันทีที่เข้าไปในบ้านร้างก็ต้องประหลาดใจเมื่อเห็นโต๊ะอาหารขนาดใหญ่วางอยู่กลางบ้าน แสงสว่างส่องกระทบโต๊ะอาหารทำให้บ้านทั้งหลังดูมีมิติและมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก สายลมและแสงแดดขับไล่กลิ่นอับชื้นและทำให้บ้านดูนวลละมุนขึ้นทันตา

เรากวาดตามองข้าวของเครื่องเรือนนับร้อยชิ้นภายในบ้าน หมู่เก้าอี้ดีไซน์เก๋ที่คุ้นตาในร้านเฟอร์นิเจอร์หรูกองไว้มุมหนึ่ง กลุ่มไหศิลปะลพบุรีเรียงรายอย่างเป็นระเบียบตรงมุมห้องรับแขกเดิมของบ้าน ห้องพักแขกดัดแปลงเป็นห้องแต่งตัวและห้องน้ำดีไซน์เก๋ที่มีชุดชั้นในลูกไม้นับสิบชิ้นพรางสายตาจากภายนอก เมื่อชุดชั้นในลูกไม้หลากสีเรียงรายบนผนังที่มีแสงสว่างลอดผ่านด้านหลัง ความเซ็กซี่ก็กลายเป็นความโรแมนติกอย่างน่าทึ่ง

“ธรรมชาติของผมเป็นคนขี้เบื่อและไม่หยุดนิ่ง ผมชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะผมอยากจะทำอะไรที่ท้าทายตัวเองและเซอร์ไพร์สคนอื่นในเวลาเดียวกัน ผมไม่ชอบทำอะไรที่ผู้คนคาดเดาได้ ผมชอบอะไรที่สนุกและชวนให้ผู้คนตั้งคำถาม อย่างที่คุณเห็นข้าวของต่างๆ ในบ้านหลังนี้นั่นล่ะ”

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ การที่เราได้เห็นบานเฟี้ยม “Virgin Paravent” ผลงานออกแบบของ Dan Friedman ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกันในปี 1987 ที่ครั้งหนึ่งเคยจัดแสดงใน Museum of Decorative Arts and Design เมือง Bordeaux ประเทศฝรั่งเศส วางอยู่ตรงมุมหนึ่งของบ้านที่รายล้อมด้วยกองข้าวของต่างๆ ทุกอย่างดูเป็นความย้อนแย้งที่ปราศจากระเบียบ แต่เป็นความรุงรังที่ดูน่าค้นหาและอยากใช้เวลาค้นพบสมบัติล้ำค่าให้นานขึ้น เพราะแท้จริงแล้วบ้านหลังนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับแกลเลอรีส่วนตัวของเขา

บนโต๊ะอาหารเต็มไปด้วยจานชามยุโรปลวดลายดอกไม้ที่ดูอ่อนหวาน พร้อมกับผลงานศิลปะที่ดูโดดเด่นสะดุดตา “นั่นล่ะ นางเอกที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้” ไม่นานแขกทั้ง 4 ท่านก็เข้ามาในบ้านเพื่อเริ่มต้นพูดคุยถึงนิทรรศการครั้งใหม่ที่เขาตั้งชื่อว่า “Life is less without art” บทกวีที่ขับกล่อมจิตวิญญาณและห้วงอารมณ์ได้อย่างลุ่มลึก

ราบิน ฮัสเซิน (Rabin Huissen) ศิลปินแนว Conceptual Art
ราบิน ฮัสเซิน (Rabin Huissen) ศิลปินแนว Conceptual Art

บทสนทนาและการพบกันครั้งแรกของ 2 ศิลปินจากคนละซีกโลก

ระหว่างการสัมภาษณ์ในวันนั้น เรามีศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ที่เคยนำผลงานมาจัดแสดงในเมืองไทยอย่าง ราบิน ฮัสเซิน (Rabin Huissen) ศิลปินแนว Conceptual Art ผู้หลงใหลในงานศิลปะและศาสตร์การแสดงแขนงต่างๆ ในฐานะแขกคนพิเศษที่มาร่วมพูดคุยกับสมพงษ์ เรารู้สึกได้ว่าเขาดูตื่นเต้นระคนประหลาดใจที่ได้เห็นของสะสมและผลงานศิลปะมากมายภายในบ้านร้าง

หลังปล่อยให้ผู้มาเยือนเดินสำรวจบ้านด้วยสีหน้าตื่นเต้น เจ้าของบ้านก็เอ่ยขึ้นว่า “ผมอยากให้พวกคุณขึ้นไปสำรวจชั้น 2 ของบ้าน แล้วพวกคุณจะเข้าใจตัวตนของผมมากขึ้น” พวกเราจึงเดินขึ้นไปข้างบนแล้วก็ต้องตะลึงกับกองของสะสม ผลงานศิลปะ ผืนผ้า และเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอัดแน่นอยู่ในบ้านร้างได้อย่างไม่มีสูญหาย มีเพียงแผ่นไม้หนาและผืนผ้าที่ปิดกั้นของสะสมมูลค่าหลักล้านกับผู้มาเยือนยามวิกาล

‘Corona Angel’

“นอกจากการเป็นสถาปนิกแล้ว ผมยังชอบเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ มากมาย อย่างที่คุณเห็นสิ่งของแตกหักเหล่านั้นผมเก็บมาเพื่อ fix และดีไซน์เป็นสิ่งใหม่ ผมชอบสะสมผลงานศิลปะและหลงใหลเสน่ห์ของดินเหนียวด้วยนะ ผมฝันอยากมีบ้านในแอฟริกาที่ทำจากดิน คุณจะเห็นผลงาน painting ของผมที่ทำจากดิน อย่างงานชิ้นนี้ผมเรียกมันว่า ‘Corona Angel’ ซึ่งผมเปรียบเธอเป็นนางฟ้าที่ลงมาบนโลกมนุษย์ในช่วงโควิด-19 หากเธอต้องการให้คุณจากโลกนี้ไป เธอก็จะทำ แต่ถ้าเธอต้องการให้คุณอยู่ คุณก็จะมีชีวิต” พูดจบเขาก็หยิบประติมากรรมขนาดเล็กที่ทำจากดินเหนียวเพนท์สีแดงมาให้เราชื่นชม ก่อนที่ราบินจะพูดถึงผลงานชิ้นนั้นว่า

“ส่วนตัวผมสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของเขาและให้ความรู้สึกเหมือน Self Portrait ของศิลปิน พื้นผิวของวัสดุมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์อย่างมาก ส่วนสีแดงสื่อถึงอันตรายและการเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต” ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์พิจารณาถึงผลงานชิ้นนั้นอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่เจ้าของบ้านจะเริ่มต้นพูดคุยถึงอีกหนึ่งผลงานศิลปะจากดินเหนียวที่เตรียมเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2567

ก้อนดินเหนียวรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีพื้นผิวขรุขระและดิบหยาบตามธรรมชาติ ลอยอยู่เหนือโต๊ะอาหารที่มีโซ่เหล็กคอยยึดโยงกับเพดานไว้อย่างแข็งแรง มองเผินคล้ายก้อนดินกำลังลอยอยู่ในอากาศ มันเป็นความเรียบง่ายทว่าเล่นสนุกกับประสบการณ์จนถึงจินตนาการของผู้ชม สมพงษ์เอ่ยถามถึงมุมมองของราบินที่มีต่อผลงานชิ้นนั้น ราบินครุ่นคิดอยู่ไม่นานก็บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากประติมากรรมตรงหน้า

“ผมชอบไอเดียและคอนเซ็ปต์ของงานชิ้นนี้ ตั้งแต่วัสดุที่นำมาสร้างสรรค์ผลงาน มันดูเป็นอะไรที่สนุกและสื่อถึงความเป็นอุตสาหกรรมที่ผสมผสานกับงานแฮนด์เมดในเวลาเดียวกัน ผมชอบพื้นผิวที่ดูไม่แข็งกระด้างจนเกินไป มันมีความดิบตามธรรมชาติของดินผสมผสานกับพื้นผิวเหมือนรูปปั้น เป็นความขัดแย้งที่มีเสน่ห์อย่างประหลาด ให้ความรู้สึกเหมือนลอยอยู่ในอากาศ มันทำให้บางสิ่งบางอย่างในชีวิตประจำวันกลายเป็นสิ่งที่มีความพิเศษมากขึ้น ผมรู้สึกชอบมันในทันทีที่เห็น คุณสามารถจะวางอะไรลงไปบนนั้น คุณอาจจจะวางดอกไม้เล็กๆ หรือของมีค่าสักชิ้น ผมว่าผลงานมินิมอลชิ้นนี้สะท้อนความเป็น Less is more ในตัวเอง”

ทันทีที่ราบินพูดจบ สมพงษ์ก็เด็ดใบผักก้านเล็กๆ วางลงบนผลงานศิลปะ พลันบทสนทนาของเหล่าผู้มาเยือนก็พรั่งพรูในอากาศ จินตนาการและประสบการณ์ของแต่ละคนเติมเต็มพื้นที่ว่างตรงหน้าให้แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องราวที่มีอรรถรส รอยยิ้มเล็กๆ ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของสมพงษ์ที่ตอนนี้แปรเปลี่ยนเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเงียบๆ ปล่อยให้ผู้ชมได้ปลดปล่อยห้วงอารมณ์บนงานศิลปะของเขาอย่างอิสระ

“ผมกระหายที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในทุกเช้าที่ผมตื่นมาถ้าไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ผมจะรู้สึกเบื่อเลยต้องหาอะไรทำเพื่อ turn me on เวลาคิดอะไรแล้วชอบผมจะลงมือทำทันที อย่างนิทรรศการชุดนี้จะปล่อยให้ผู้คนตีความหมายได้อย่างอิสระ คุณจะวางแหวนหรือของมีค่าลงไปก็ได้ขึ้นอยู่กับคุณ มันเป็นผลงาน abstract ที่จะเล่นสนุกกับอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการของผู้ชม ผมชอบดูรีแอ็กชั่นของผู้คนมากกว่าการที่ไม่มีรีแอ็กชั่นใดๆ เลยเพราะการตอบสนองของผู้คนบ่งบอกถึงความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจของพวกเขา”

นอกจากนี้ ดีไซเนอร์สาวคนหนึ่งที่ร่วมล้อมวงสนทนาในบ้านร้างหลังนั้นก็พูดถึงผลงานชิ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “มันเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สื่อสารกับสิ่งที่อยู่ข้างในของตัวเอง ท่ามกลางความว่างเปล่าอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่ล่องลอยในอากาศ เหมือนที่คุณราบินบอกว่า Less is more เมื่อคุณวางสิ่งของอะไรลงไปสักอย่างบนนั้น มันจะกลายเป็นประเด็นหลักของบทสนทนาไปเลย”

ถึงจุดนี้ ราบินเอ่ยถามกับสมพงษ์ถึงคอนเซ็ปต์หรือ topic ที่ต้องการจะสื่อสารก่อนการสร้างสรรค์ผลงาน เขาอธิบายให้ราบินฟังว่า “ส่วนใหญ่แล้วผมจะมีแค่หัวข้อสั้นๆ ก็เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ผมไม่ค่อยเก่งเรื่องการครีเอทเรื่องราว เพราะผมไม่อยากจะใส่ความคิดมากมายลงไป แต่ก็อดไม่ได้ที่จะใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในผลงาน ผมไม่แคร์ว่าผู้คนจะชอบหรือมองมันเป็นอย่างไร ผมแค่อยากจะสร้างงานศิลปะขึ้นมา ในฐานะสถาปนิกผมได้ครีเอทสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมายแล้ว ดังนั้นในฐานะศิลปินผมจึงอยากให้มันเรียบง่ายและเต็มไปด้วยความหมาย”

สมพงษ์บอกเล่าชีวิตในฐานะสถาปนิกที่ผ่านการทำงานมาหลากหลายรูปแบบให้ราบินฟังอย่างสนุกสนาน หลายเรื่องราวของเขาได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารหลายฉบับของเมืองไทย ความสำเร็จในชีวิตเป็นเรื่องที่เขาไม่อยากจะพูดถึงสักเท่าไหร่ เขาให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “ผมเหนื่อยที่จะพูดถึงมันแล้ว” ปล่อยให้ผลงานศิลปะและสิ่งของต่างๆ บอกเล่าความสำเร็จของเขาแทนคำพูด

นิทรรศการลำดับถัดไปในชื่อ “Life is less without art”

ชีวิตที่ปราศจากความรื่นรมย์จากศิลปะ เป็นฉากชีวิตที่ดูจะไร้อรรถรสไปสักหน่อยสำหรับบางคน เช่นเดียวกับศิลปินเอก ผู้นำทางความคิด และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคนบนโลกใบนี้ ที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ชีวิตจะกลมกล่อมหากมันถูกหล่อหลอมด้วยศิลปะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาจัดแสดงนิทรรศการใหม่ภายใต้ชื่อ Life is less without art”

บนชั้น 2 ของร้าน C43: Fashion and Inspiration Space ภายในโครงการ Charoen 43 Art and Eatery เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการล่าสุดของสมพงษ์ พานิช สถาปนิกชื่อดังของไทยที่ผันตัวเองมาทำงานศิลปะอย่างจริงจัง ศิษย์เก่าจากรั้วจามจุรีที่ยังคงสนุกสนานกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไม่รู้เบื่อ  

“ผมจะจัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นนี้บนโต๊ะตัวหนึ่ง ซึ่งมีเก้าอี้วางอยู่ใกล้ๆ ไม่ว่าคุณจะนั่งตรงข้ามกับคนรัก เพื่อนสนิท หรือคนแปลกหน้าก็ตาม ทันทีที่คุณนั่งลงแล้วจ้องมองมันกับผู้คนต่างความสัมพันธ์ เรื่องราวที่พรั่งพรูออกมาก็อาจจะแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับใครคนนั้น หรือถ้าคุณอยากจะวางของชิ้นเล็กๆ ก็ได้หมด สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นประเด็นหลักของบทสนทนาไปเลย ไม่เชื่อลองเซอร์ไพร์สตัวเองดูสิ” (หัวเราะ)

ด้วยความหลงใหลที่มีต่อเนื้อสัมผัสอันเปี่ยมเสน่ห์ของดินเหนียว บวกกับแรงบันดาลจากบทสนทนาที่ฟุ้งกระจายบนโต๊ะอาหารในบ้านร้าง หลอมรวมกับจิตวิญญาณของศิลปิน เขาจึงสร้างสรรค์พื้นที่เล็ก ๆ วางเพียงสาระสำคัญและเน้นยำถึงความรู้สึกอันหนักหน่วง ผ่านร่องรอยดิบหยาบและตอกย้ำด้วยน้ำหนักมือบนแผ่นดินเหนียว แขวนไว้บนโครงสร้างอุตสาหกรรมอันหนักอึ้งที่ราวกับจะถ่วงรั้งเราไว้ เพื่อให้ผู้ชมปลดปล่อยความรู้สึกลงบนพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้ศิลปะเยียวยาเราผ่านผลงานของเขาในคราวนี้ ทำให้ Life is less without art เป็นดั่งบทกวีแห่งความว่างเปล่าที่จะเติมเต็มเรื่องราวในชีวิตของเราได้อย่างลุ่มลึก

อีกไม่นานเกินรอ เราจะได้พบกับนิทรรศการลำดับต่อไปของชายผู้มีความสุนทรีย์และความอ่อนเยาว์ในอารมณ์ เป็นเวลาหลายชั่วโมงที่เราสนทนาในบ้านร้าง ท่ามกลางศิลปินแขนงต่างๆ ที่ล้อมวงพูดคุยกันอย่างออกรส เมื่อแดดบ่ายใกล้ลาลับขอบฟ้าก็ถึงเวลาที่เราจะบอกลากันสักที เป็นอีกหนึ่งวันที่รู้สึกว่าชีวิตนี้มีอะไรใหม่ๆ รอให้เราค้นพบและประหลาดใจอยู่เสมอ

หากคุณอยากรู้ว่า ศิลปะจะนำพาความรื่นรมย์และความสนุกสนานให้กับชีวิตได้อย่างไร? เราเชื่อว่านิทรรศการ Life is less without art อาจจะเป็นคำตอบที่ดีให้กับคุณได้ไม่มากก็น้อย และมันรอคอยการค้นพบตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม-3 สิงหาคม 2567 เวลา 12.00-19.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และอังคาร) ภายในโครงการ Charoen 43 Art and Eatery

กดติดตามเราได้ที่

website       :  www.fyibangkok.com

facebook     : https://www.facebook.com/fyibangkok

instagram    : https://www.instagram.com/fyibangkok

twitter         : https://twitter.com/fyibangkok

youtube       : https://www.youtube.com/channel/UChhOQmckv2fqgkXJZ-Q1nCA

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)