Now Reading
The nest in the NESTEL Space

The nest in the NESTEL Space

ชวนมาชมงานศิลปะจากหลากหลายมุมมองของ 14 ศิลปิน ที่ร่วมกันเปลี่ยนรังขนาดกะทัดรัดบนถนนเจริญกรุง ให้กลายเป็นพื้นที่งานศิลป์สุดจี๊ด

             ตลอด 9 วันในงาน Bangkok Design Week 2020 ที่จัดใหญ่หลายจุดในกรุงเทพฯ ภายในพื้นที่ของ The Nestel living in the Gallery  โฮสเทลสุดเก๋ที่ผสานแกเลอรี่ไว้ด้วยกัน ภายในซอยเจริญกรุง 45 ตรงข้ามกับอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก พื้นที่จัดงานหลักของเทศกาล จะถูกเปลี่ยนเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะจากกลุ่มคน ที่มีความหลากหลายทั้งอาชีพ ไม่ว่าจะดีไซเนอร์ ช่างภาพ ศิลปิน นักประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ในช่วงวัยที่แตกต่าง ตลอดจนมุมมองความคิด ตามคำชักชวนของเจ้าของพื้นที่อย่าง รศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ให้กลุ่มกัลยาณมิตรมาช่วยกันปั้นงานศิลปะที่แสดงออกถึงความหมายของ พื้นที่ หรือ รัง ในมุมมองของแต่ละคน ผ่านสื่อและการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำรูปแบบ จนกลายเป็นแหล่งรวมงานศิลป์สุดจี๊ดที่หาชมได้ยาก

ภายในพื้นที่จัดงานชั้นล่างจะถูกเติมเต็มด้วยสีสันของหลากหลายศิลปิน เริ่มตั้งแต่งาน Installation ที่นำเสนอผ่านตุ๊กตาใน Concept โลกคือละคร มนุษย์ทุกคนล้วนมีร่างกายเหมือนกันแต่เราสวมบทบาทตามแต่ละชุดที่สวมใส่ ความเก๋อยู่ที่การจัดแสดงร่วมกับเทคนิค Real-time Motion Capture ของกลุ่มศิลปิน KEEP_YOUR_EYES_ON เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผลงานกับผู้ชม โดยสามารถกำหนดท่าทางของตุ๊กตาประกอบไปกับฉากต่างๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศหรือสถานที่ที่เปลี่ยนไป ตามลักษณะของตัวละครนั้นๆ ในรูปแบบ 3D Character Animation

ในพื้นที่เดียวกันยังมีพรมที่นำเส้นด้าย Recycled Polyester ซึ่งได้จากขยะขวดพลาสติกของบริษัท Carpet Maker มาเพิ่มสีสันสะดุดตา ตรงข้ามกับสีขาวของงาน 10eyes spider/แมงมุม10ตา ผลงานของ ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร ที่นำเทคนิคการถักทอลูกไม้แบโบราณ มาสร้างสรรค์งานที่สื่อถึงใยแมงมุม รังโปร่งใสของแมงมุมตัวน้อย ที่สร้างงานศิลป์ให้พื้นที่ของตนเองอย่างสร้างสรรค์และไม่ยึดติดรูปแบบ

ถัดมาเมื่อขึ้นไปถึงชั้นลอย จะพบกับ COLLECTOR PROJECT x DEVANT  – BANGKOK EDITION คอลเลคชั่นส่วนตัวของเอก ทองประเสริฐ ที่ทำร่วมกับแบรนด์รองเท้าของอาจารย์น้ำฝน คอนเซ็ปท์หลักของงานเพื่อบอกเล่าถึงความเกี่ยวเนื่องของผู้คน ชุมชน และย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล ที่ทอสานกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ผ่านคอลเลคชั่นเสื้อผ้าและรองเท้ารุ่น Limited Edition ที่นำวัตถุดิบต่างๆที่เขาได้จากหลากหลายย่าน มารวมกันเป็นชิ้นงาน ผ้าเช็ดหน้าไหมพิมพ์ลาย จากนนทบุรี ผ้าฝ้ายและลินิน จากราษฎร์บูรณะ เชือกไนลอน จากธนบุรี เครื่องรางของขลัง จากเขตพระนคร ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย จากเขตจตุจักร รองเท้าจากเขตบางรัก

เมื่อขึ้นไปบนชั้นสองที่จัดแสดงงานภายในพื้นที่ของห้องพัก จะพบงาน ‘มืดกับสว่าง’ ของศิลปิน ชลิต นาคพะวัน ที่สื่อความหมายของความมืด-ความสว่าง กับความทุกข์และความสุข สัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเดินทางของชีวิตคือการศึกษา การเรียนรู้ ฝึกฝนตลอดเวลา เพื่อดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ วัสดุที่ใช้ในผลงานจึงนำมาจากธรรมชาติ เช่นไม้เก่า เศษไม้ ของใช้ทำจากไม้ เมล็ดพันธุ์ไม้ ดอกไม้ ผลไม้ ที่หลุดร่วงจากต้น นำมาออกแบบเป็นโคมไฟ โต๊ะ เก้าอี้ ที่รูปทรงมาจากสิ่งมีชีวิต จากธรรมชาติที่หลากหลาย แฝงไว้ด้วยความคิดและปรัชญา

อีกห้องหนึ่งจัดแสดงงาน The Nest in the Nestel ของกลุ่มศิลปินที่รวมนักประชาสัมพันธ์ (กุลยา กาศสกุล) ดีไซเนอร์ (ปิยพร พงษ์ทอง) และช่างภาพ (สมัชชา อภัยสุวรรณ) ที่มาสวมบทบาทเป็นเสมือนเจ้าบ้านที่เล่าเรื่องราวของเจริญกรุง โดยใช้สื่อต่างๆเป็นตัวสร้างใจความให้กับพื้นที่ พร้อมตั้งคำถามว่าเจริญกรุงคืออะไรในสายตาพวกเขา และอะไรคือชีวิตที่ถูกฟูมฟักในพื้นที่นี้ ผ่านงานศิลป์ที่จะค่อยๆเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น จากการจัดงานตลอด 9 วันเต็ม

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีผลงานของ วิทวัน จันทร ที่จัดแสดงการออกแบบพื้นผิวผ้าด้วยเทคนิคการทอมือ ที่เกิดจากทอผสมผสานลวดลายมัดหมี่ 2 ลาย สลับไปมาแบบไม่ระเบียบเป็นแบบแผน ผลงาน ‘สงบ’ ของ ชัยชน สวันตรัจฉ์ ที่สื่อความคิดว่า ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมือง การได้อยู่ในที่สถานที่ที่ถูกจัดวางเพื่อความพอใจของผู้อยู่มีความสำคัญในการสร้างพลังงานบวก ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความสงบสุขทางจิตใจ รวมถึงผลงาน The Andaman Islander ของ Juno Janssen ที่ผสมผสานความเป็นบ้านนอก แฟชั่น เข้ากับกลิ่นอายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการมิกซ์ผ้าไหมหลายชนิดเข้าด้วยกัน ร่วมถึงการการอัพไซเคิลถุงพลาสติก มาผลิตเครื่องประดับสนุกๆเพื่อที่ถุงเหล่านั้นจะได้ไม่กลายไปเป็นขยะในท้องทะเลอีกด้วย

ไปร่วมชมความสนุกในมุมมองที่แตกต่าง ของศิลปินทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นกันได้ที่ The Nestel living in the Gallery เจริญกรุง 45 เวลา 11.00-21.00 น.

อรรยา จารุบูรณะ (ออน)
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)