Now Reading
นั่งรถไฟไปเชียงใหม่

นั่งรถไฟไปเชียงใหม่

มีคนกล่าวไว้ว่า ชีวิตคือการเดินทาง จุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่สิ่งที่เราเจอระหว่างทางต่างหาก วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าประสบการณ์การเดินทางไปเชียงใหม่ โดยการนั่งรถไฟไปเชียงใหม่ 

ปลายทางของเราคือไปดอยหลวงเชียงดาว

คุณขึ้นรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ สำหรับเราชีวิตวนเวียนกับการนั่งรถไฟตั้งแต่มัธยมต้น คือนั่งรถไฟไปสอบที่เชียงใหม่ ตอนเรียนมัธยมปลายก็ต้องนั่งรถไฟจากชานเมืองเข้ามาเรียนในเมืองปลายทางคือหัวลำโพง เคยนั่งรถไฟทางไกลแค่ 2 ครั้ง และครั้งนี้คือการนั่งรถไฟทางไกลในรอบ 30 ปีบวกๆ เลยทีเดียว

นั่งรถไฟไปเชียงใหม่
เราไปรับตั๋วเองที่สถานีรถไฟหัวลำโพง

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจนั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ฮ่า คำตอบง่ายๆ คือ แก่กว่านี้คงนั่งไม่ไหวแล้ว เอาล่ะ คราวนี้นอกจากจะตัดสินใจนั่งรถไฟ เราก็ยังตั้งใจเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะอีกด้วย จากการหาข้อมูลพบกว่ามีขบวนหนึ่งที่น่าสนใจคือขบวน 51 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยใช้ชื่อว่า #JungleTrain เป็นขบวนที่ออกจากสถานีกลางบางซื่อเวลา 22.30-12.10 น. หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า #กรุงเทพอภิวัฒน์เชียงใหม่ เป็นตู้นอนแอร์ชั้น 2 ที่เลือกนั่งขบวนนี้เพราะว่ารถไฟจะไปเช้าที่อุตรดิตถ์ประมาณ 6 โมงเช้า แล้วเราก็ได้นั่งมอง ป่า เขา ทุ่งนา ลำธาร ผู้คนไปได้เรื่อยๆ ไปถึงช้าหน่อย แต่ก็มีความสุขระหว่างทาง และๆๆๆ รถไฟไทยไปถึงก่อนเวลา 3 นาที 😁

เราจองตั๋วรถไฟผ่านการโทรไปที่ Call center 1690 หรือใครจะจองและชำระเงินผ่านเวบไซต์ของการรถไฟได้เลยนะคะ จองเสร็จเราไปรับตั๋วด้วยตัวเองที่หัวลำโพงเพราะใกล้บ้าน หลังจากนั้นก็รอวันเดินทาง (ค่าตั๋วประมาณคนละ 700 กว่าบาท เตียงล่างแพงกว่าเตียงบน)

.

สำหรับใครที่ไม่อยากเสียเวลาเหมือนเราจะจองตู้นอนชั้น 1 ไปก็ได้ สะดวกสบายและเป็นส่วนตัว แต่จะเต็มเร็วมาก ต้องจองล่วงหน้าพอสมควร ค่ารถไฟประมาณคนละพันกว่าบาทนิดๆ แต่ขบวนนี้จะไม่เห็นวิวระหว่างทาง คือรถออก 18.30 -07.10 ไปเช้าที่เชียงใหม่เลย

ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ

วันเดินทางก็ไปถึงสถานีกลางบางซื่อหรือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนเวลาเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จะเรียกขึ้นรถก่อนเวลา 20 นาที ขบวนเรามีตู้นอน 2 โบกี้ ขึ้นไปก็จะเป็นเตียงพร้อมนอนแล้ว มีม่านสีเขียวกั้น แล้วก็มีจุดให้ชาร์ทอุปกรณ์ต่างๆ ซื้อขนมไปตุน เพราะบางขบวนก็มีตู้เสบียงและบางขบวนก็ไม่มี สิ่งที่คนถามเยอะๆ คือห้องน้ำเป็นอย่างไรบ้าง ก็เข้าได้นะ แต่ก็หวั่นไหวนิดหน่อย ห้องน้ำมี 2 แบบคือแบบชักโครกกับแบบนั่งยองๆ และเป็นห้องน้ำรวม  แต่เราไม่ได้ผจญภัยแบบนี้บ่อยๆ คิดซะว่านานๆ ทีที่ได้เข้าห้องน้ำแบบนี้ก็ทำให้หัวใจ เต้นแรงดีเหมือนกัน

บรรยากาศภายในตู้นอนเตียงล่างจะสบายกว่าเตียงบนและมีหน้าต่าง

จุดชาร์ทไฟจะมีทุกจุดตามที่นั่ง

เรานอนหลับสนิท เพราะก่อนไปงานเยอะมากและต้องอดหลับอดนอนเคลียร์งานให้เรียบร้อยเลยค่อนข้างเพลีย ตื่นมาก็เกือบๆ ตีห้า เพราะมีผู้โดยสารทยอยลงระหว่างทาง หกโมงเช้าเลยมารอให้เจ้าหน้าที่พับเตียงให้ ใครจะไม่พับก็ได้นะ คือจะนอนแบบนั้นเลยก็ได้

ตอนเช้าจะมีเจ้าหนี้ที่มาเก็บที่นอนให้
เราตื่นเช้า อยากมานั่งมองวิวสองข้างทาง แต่ใครอยากนอนต่อไม่อยากเก็บเตียงก็ได้นะ
ที่สถานีรถไฟ จ.แพร่
ถ่ายภาพผ่านกระจก

วิวสองข้างทางก็มีตั้งแต่ตลาดสด  ลำธาร นาข้าว ป่าเขา สถานีรถไฟ รวมถึงแม่ค้าที่ขึ้นมาขายอาหารก็ได้ข้าวเหนียวหมูปิ้งกับไส้อั่วเป็นมื้อเช้า การได้มองออกนอกหน้าต่างไปไกลๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน ก็ทำให้มีความสุขเบาๆ

รถไฟมาถึงก่อนเวลา 3 นาทีถ้วน

อ่ะ อย่างที่บอกรถไฟไทยมาถึงก่อนเวลา พอลงมาที่ชานชาลาเลยต้องขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเสียหน่อย จุดหมายของเราอยู่ที่เชียงดาว พอออกมาจากสถานีก็ขึ้นรถแดงไปขนส่งช้างเผือก ได้รถเมล์ปรับอากาศไปเชียงดาวเวลา 13.30 น.ค่ารถคนละ 64 บาท ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง หลังจากนั้นรถจากทางรีสอร์ทก็มารับ

ที่ขนส่งเชียงดาว เรานั่งมาจากขนส่งช้างเผือกในเมืองเชียงใหม่

การเดินทางครั้งนี้ เราตั้งใจไม่เช่ารถขับ ลองใช้ชีวิตแบบไม่มีรถทำตัวเบาๆ เอาเป้ไปใบเดียว (แต่ก็มีชุดกินข้าวเช้า ชุดไปเดินเล่นนะ ) ขากลับที่รีสอร์ทเรียกรถสองแถวมารับไปส่งที่ขนส่ง นั่งรถเมล์ธรรมดาไม่มีแอร์ คนละ 44 บาท มาส่งในเมือง แล้วก็เรียก Grab ไปส่งที่สนามบินเชียงใหม่

ขณะรถจอดที่สถานีขุนตาน ก็มีเด็กๆ นั่งรถไฟไปทัศนศึกษา

การเดินทางคือการผจญภัย การเดินทางทำให้ได้ชาร์ทพลัง ลองหาเวลาไปเที่ยวกันนะคะ เดี๋ยวเอาไว้มาเขียนเรื่องเชียงดาวเผื่อใครกำลังวางแผนไปเที่ยว เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้นะเออ

กดติดตามเราได้ที่

website       :        www.fyibangkok.com

facebook     :        

instagram    :        

twitter         :

youtube       :

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516


กุลยา กาศสกุล
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)